เครื่องหมายอัศเจรีย์

ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สู่การป้องกัน-เยียวยาการกัดเซาะชายฝั่ง

5 ปี  ของการขับเคลื่อนร่างปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ…. ซึ่งเป็นกฎหมายโดยภาคประชาชน  เข้าสู่รัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อยู่ในขั้นตอน 90 วัน เพื่อล่า 10,000 รายชื่อ นำมายื่นให้กับประธานรัฐสภาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาร่างดังกล่าว

ในช่วง 10 ปี ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ   ชุมชนชาวประมงที่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเล ที่เปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรที่สร้างรายได้ เมื่อถึงคราที่ลมมรสุมพัดหรือพายุ จะพัดพาให้เกิดคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งจนเกิดการกัดเซาะเป็นวงกว้าง ส่งผลให้บ้านเรือนมักจะได้รับความเสียหาย และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐในฐานะผู้ประสบภัย

นายไมตรี  จงไกรจักร  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท  หนึ่งในผู้เสนอร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ…..  ระบุว่า  1 ในข้อเพิ่มเติมของ พ.ร.บ. ดังกล่าวคือให้ “การกัดเซาะชายฝั่ง” อยู่ในกลุ่มสาธารณภัย ที่แม้จะเกิดเหตุชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน หรือที่เรียกว่า “ผู้ประสบภัย”   ที่จะทำให้ได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายได้ตามหลักเกณฑ์เดียวกับสาธารณภัยจากอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์  โรคระบาดสัตว์  โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ 

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ ยังให้ความสำคัญ “ผู้ประสบภัย” ครอบคลุมไปถึงผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น ชาวเล  ชาวเขา  คนไทยพลัดถิ่น จะไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐได้ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่บ้านเช่าด้วย  และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่เป็นผู้ประสบภัย หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านก็จะทำให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้รับการดูแลเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน

สิ่งสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ. คือการให้อำนาจท้องถิ่นในการใช้งบประมาณท้ที่มีอยู่ นำมาป้องกัน ดูแล และส่งเสริมในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยไม่ต้องรอจากส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถเตรียมเครื่องมือ การป้องกันได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากคนในพื้นที่จะมีการทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าในช่วงไหนจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ที่จะทำให้การป้องกัน ดูแล มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แต่หากในชุมชนได้รับผลกระทบจนเกิดเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่จึงจะเข้าสู่ระดับจังหวัด และหน่วยงานส่วนกลาง

“โดยเฉพาะที่ผ่านมา “การกัดเซาะชายฝั่ง” เป็นไปตามฤดูกาล  หากเป็นสาธารณภัยท้องถิ่น จังหวัดก็สามารถแก้ไขป้องกันได้ทัน  โดยไม่ต้องรอให้ลุกลาม จนต้องของบสร้างกำแพง สร้างเขื่อน แก้ปัญหา ที่นับเป็นการส่งผลกระทบแบบระยะยาว  ไม่มีที่สิ้นสุด และยังต้องใช้งบปีละกว่า 1,400 ล้าน  อีกทั้งยังทำให้ชายหาดหายไป”

พ.ร.บ. ฉบับเดิม ยังไม่ครอบคลุมการจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มอาสาสมัคร ชาวบ้าน อาสาสมัครกู้ภัย หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยเหลือในระหว่างเกิดภัยพิบัติ เพราะจะครอบคลุมแค่ อปพร. แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. จะครอบคลุมทั้งหมดโดยไม่เลือกปฎิบัติ

“ทุกคนควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ เมื่อใดก็ตามที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ โดยไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นใคร และต้องมีขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน โดยให้อำนาจของท้องถิ่น”

แชร์