เครื่องหมายอัศเจรีย์

ผันน้ำยวมเติมภูมิพล …. โครงการ 7 ปี ที่รัฐเลือกทุ่มงบ? (ตอนจบ)

โดย ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ที่ปรึกษา ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส

จากรายงานศึกษาทบทวนและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อ้างถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงการฯ สืบเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรหน้าฝนและเกษตรหน้าแล้ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่ว่างของเขื่อนภูมิพลที่สามารถใช้เก็บกักน้ำเพิ่มเติมได้อีก โดยได้เน้นย้ำถึงความพยายามที่ผ่านมาของภาครัฐในการแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในลุ่มเจ้าพระยา และตอกย้ำว่าในปัจจุบัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางมีความล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( กนช.) จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง (หลังจากที่ถูกพับไปตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากใช้งบประมาณสูงมาก) เมื่อปี พ.ศ. 2559

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลในปัจจุบันและอนาคต 20 ปี (2560-2579)

องค์ประกอบหลักของโครงการ ได้แก่ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยวมขนาดเก็บกักประมาณ 68 ล้าน ลบ.ม. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บที่อุโมงค์พักน้ำ ซึ่งมีระดับความสูงต่างกันประมาณ 15 ม. และปล่อยน้ำลงมาทางอุโมงค์ส่งน้ำ โดยคาดว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ประมาณ 2,287 ไร่ ทั้งพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1A 1B และ ลุ่มน้ำชั้น 3

  • งบประมาณ คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 71,000 ล้านบาท
  • ระยะเวลา คาดว่าใช้เวลาเตรียมการ 1 ปี และก่อสร้าง 7 ปี

ข้อสังเกตด้านทรัพยากรน้ำ

1. ปัญหาน้ำขาดแคลนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ได้เกิดจากน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ แต่เกิดจากการบริหารจัดการ

  • ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำขาดแคลน แต่เป็นลุ่มน้ำที่ประสบทั้งปัญหาน้ำขาดแคลน และ น้ำท่วม สลับๆ ไปเกือบทุกปี และบางช่วงเวลาเดียวกันของบางปี มีทั้งน้ำขาดแคลนในบางพื้นที่ และ ท่วมในบางพื้นที่ การนำเสนอในเล่มรายงานฯ เน้นย้ำเฉพาะสถานการณ์น้ำขาดแคลน  อ้างว่าน้ำต้นทุนไม่เพียงพอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ดังปรากฎในภาพที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงการนำเสนอด้านเดียว ทั้งที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเกิดอุทกภัยสลับกับแล้งมาตลอด ดังตัวอย่างภาพถ่ายทางอากาศจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ที่แสดงในภาพที่ 2 และ 3 ซึ่งปรากฎชัดว่าในปี พ.ศ. 2564 เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ยาวนานมาถึงเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่น้ำเก็บกักในเขื่อนขนาดใหญ่มีเพียงประมาณ 50% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า มีฝนที่ตกนอกอ่างเก็บน้ำ ซึ่งไม่อาจจัดการหรือเก็บกักด้วยเขื่อนที่มีอยู่และวิธีการเดิมๆ ที่ใช้อยู่ เขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบเดียวของการบริหารจัดการน้ำ
  • ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยามีเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จากการวิเคราะห์สมดุลน้ำของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ยม น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา(โดยใช้ข้อมูลน้ำท่า ที่สถานวัดน้ำของกรมชลประทาน)พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา (แม้ยังไม่รวมน้ำจากลุ่มน้ำท่าจีน และ น้ำ side flow ลุ่มน้ำท่าจีน) เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ดังแสดงในภาพที่ 4 นอกจากนี้ การวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน ยังพบว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549 – 2560) การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลงถึง 4% แสดงให้เห็นว่า ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีแนวโน้มลดลง หากมีการบริหารจัดการที่ดีพอ ปัญหาน้ำขาดแคลนจึงไม่ควรเกิดขึ้น




ภาพที่ 1 ความต้องการน้ำและปริมาณเก็บกักลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขา ในปัจจุบันและคาดการณ์อนาคตอีก 20 ปี โดย บ.ที่ปรึกษา ภายใต้การว่าจ้างของกรมชลประทาน

พื้นที่น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2549

พื้นที่น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2551

ภาพที่ 2 พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี พ.ศ. 2549 2551 2554 
ภาพถ่ายทางอาศจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)

ภาพที่ 3 พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง พฤศจิกายน  ปี พ.ศ. 2564
ภาพถ่ายทางอากาศจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)

ภาพที่ 4 วิเคราะห์เปรียบเทียบ น้ำท่าเฉลี่ยของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ยม น่าน เจ้าพระยา  กับ ความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขา

2. ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำสูญเสียปริมาณมหาศาล และปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข


ภาพที่ 5 น้ำนองท่วมถนน เนื่องจากท่อจ่ายน้ำของการประปานครหลวงแตกรั่วชำรุด

2.1 น้ำสูญเสียในระบบประปา สูงกว่า 30% เป็นเวลาต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี

  • เฉพาะการประปานครหลวง คิดเป็นปริมาณน้ำที่สูญเสียมากกว่าวันละ 1.65 ล้าน ลบ.ม.  เดือนละ 50 ล้าน ลบ.ม. ปีละ 594 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกข้าวประมาณ 594,000 ไร่
  • การประปาภูมิภาค มีสูญเสียน้ำในระบบท่อจ่ายน้ำประมาณ 39% คิดเป็น น้ำที่หายไป เดือนละ 19 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าว 19,000 ไร่ ปีละ 228 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าว 228,000 ไร่

หากลดน้ำสูญเสียจากระบบส่งน้ำของการประปานครหลวง และ การประปาภูมิภาคลงเพียง 5% จะได้น้ำกลับมาเดือนละเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. ปีละมากกว่า 100 ล้าน ลบ. ม.

2.2 น้ำสูญเสียในระบบชลประทาน

ปัจจุบัน ระบบชลประทาน มีประสิทธิภาพเฉลี่ยเพียง 50-60% จากตัวเลขน้ำใช้เพื่อการเกษตรของลุ่มเจ้าพระยา ปีละ 12,565 ล้าน ลบ.ม. นั่นคือ สูญเสียน้ำ ในระบบชลประทานประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งน้ำที่สูญเสียนี้มากกว่า 2 เท่าของน้ำที่จะผันจากยวมมาเติมภูมิพล ดังนั้น กรมชลประทานควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทิภาพระบบชลประทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ทำแล้วได้น้ำทันที เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยทันที โดยยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 71,00 ล้านบาท และทำลายพื้นที่ป่าไปอีกร่วมสองพันไร่ นอกจากนี้ การปรับรูปแบบการทำนา ยังสามารถลดการใช้น้ำลงได้อีก

3. ข้อสังเกตต่อการแก้ปัญหาด้านน้ำ ที่ต่างหน่วยงานต่างคนต่างทำ ขาดเจ้าภาพ ขาดหน่วยงานกำกับ ขาดการพิจารณาแบบองค์รวมในระดับลุ่มน้ำ และความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำต่อลุ่มน้ำ

รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหานี้ จึงได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560  เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับ ในฐานะ regulator ดูแลนโยบายด้านน้ำประเทศและหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งหมด  แต่ถึงปัจจุบัน สทนช. ยังไม่เคยวิเคราะห์ปัญหาของลุ่มน้ำแบบองค์รวม และ ยังไม่เคยวิเคราะห์แนวทางแก้ไข แบบบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกัน และ ร่วมกับภาคประชาชน อีกทั้ง ไม่เคยพิจารณาผลจากการดำเนินมาตรการใดๆ ไม่ว่าที่ได้ทำแล้ว และที่เป็นแผนโครงการ ว่ากระทบต่อภาพรวมของน้ำและสิ่งมีชีวิตทั้งลุ่มน้ำ    ไม่ว่าจะด้านบวก หรือ ด้านลบ อย่างไร ดังนั้น แนวคิดการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538) จึงเป็นแนวคิดโบราณ ที่ไม่ได้พิจารณาปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแบบองค์รวม ขาดการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทรัพยากรในระดับลุ่มน้ำ และเชื่อมโยงลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะ ด้านทรัพยากรน้ำ

1. ขอให้ชะลอโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ไว้ก่อนแล้วให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการต่อไปนี้

  • วิเคราะห์ปัญหาของลุ่มน้ำแบบองค์รวม ทั้งในเชิงลุ่มน้ำและในเชิงความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำที่มีความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน
  • พิจารณาหาแนวทางแก้ไข แบบบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกัน และ ร่วมกับภาคประชาชน แบบมีทางเลือก
  • จากข้อ (1) (2) จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่จริงใจ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งในลุ่มน้ำตัวเองและลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงกัน ก่อนมอบนโยบายแก่หน่วยงานปฏิบัติเพื่อให้ทุกหน่วยงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อน ไม่โยนภาระ ไม่ใช้งบเพื่อแก้ปัญหาเก่า ด้วยการสร้างปัญหาใหม่ ให้ตามแก้ไม่รู้จบ 

2. หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทางเลือกในการแก้ปัญหาด้านน้ำ ที่เป็นการแก้ปัญหาในลุ่มน้ำตัวเองให้จบ ไม่แก้ปัญหาในลุ่มน้ำเดิมด้วยการสร้างปัญหาให้ลุ่มน้ำอื่น หรือ พื้นที่อื่น เลือกแนวทางที่ทำได้ทันที มีเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม

ด้านการเกษตร

  • การส่งเสริมเกษตรกร ทั้งในพื้นที่ชลประทาน และ เกษตรน้ำฝน ให้เก็บน้ำ ในบ่อ สระ ในไร่นา
  •   เชื่อมโยงบ่อ สระ ในไร่นา เข้ากับระบบชลประทานที่มีการเก็บกักน้ำในเขื่อน และอ่างทั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดกลาง ตามแนวคิดโครงข่ายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเขื่อนและอ่าง และลดปัญหาน้ำขาดแคลนในหน้าแล้ง
  • วิเคราะห์น้ำต้นทุน โดยใช้น้ำใต้ดินร่วมกับน้ำผิวดิน ตามศักยภาพพื้นที่อย่างแท้จริง

ด้านอุตสาหรรม ใช้แนวคิด 3R กับอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

น้ำประปา

  • รัฐบาลต้องผลักดันให้ กปน. และ กปภ. ลดน้ำสูญเสียในระบบส่งน้ำอย่างเข้มข้นจริงใจ กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน และเข้มงวด สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน
  • เน้นย้ำการใช้น้ำตามให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ในทุก sector

ข้อสังเกตต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบทั้งต่อ ลุ่มน้ำยวม
ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องไปถึง ลุ่มน้ำท่าจีน

ดังนั้น ไม่ใช่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กี่หลังคาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่ ‘พวกเราทุกคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ปิง ยวม สาละวิน’ ครอบคลุมหมด ทั้งเกษตรกร ผู้ใช้น้ำประปา ชาวประมง อุตสาหกรรมทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ท้องถิ่น กปน. กปภ. ดังนั้น กิจกรรมการมีส่วนร่วม จึงไม่ใช่เพียงการชี้แจงต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สูญเสียที่อยู่ที่กินเท่านั้น แต่ต้องให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่รับรู้รับทราบน้อยมากเกี่ยวกับการใช้งบประมาณมากกว่า 7 หมื่นล้านบาทในการผลาญพร่าทรัพยากรครึ่งประเทศ โปรดร่วมกันเรียกร้องให้กรมชลประทานเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมใหม่อีกครั้งอย่างจริงใจ” ตั้งแต่ต้น

แชร์


  • ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมเเหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

  • ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมเเหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)