“เกษตรเมือง” มีนิยามจำกัดความตั้งแต่กิจกรรมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เมืองหรือชานเมือง และครอบคลุมไปถึงมิติที่กว้างขึ้นในด้าน สิ่งแวดล้อม การบำบัด รวมถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะของเมือง บทบาทหนึ่งของเกษตรเมือง คือ สร้างความยืดหยุ่นและมั่นคงทางอาหาร (Food security) ให้กับคนเมือง
หากมองในบริบทของเมืองใหญ่ๆในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สามารถพบพื้นที่เกษตรชานเมืองที่ยังเหลืออยู่ใกล้เมือง โดยส่วนมากแทรกตัวปะปนอยู่กับพื้นที่เมืองที่ขยายตัวแบบไร้ระเบียบและไร้ทิศทาง นับเป็นความซับซ้อนและท้าทายในการบริหารจัดการเกษตรชานเมือง บริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เกษตรใกล้เมือง

แนวคิดเกษตรเมือง (Urban Farming Concept)
แนวคิดการออกแบบภูมิทัศน์โดยผสมผสานกิจกรรมการเกษตรเมืองเข้ามาในชุมชนเมืองไม่ใช่ความคิดแปลกใหม่ในสังคมไทย จากไร่ นา และสวน สู่สวนเกษตรชุมชน สวนครัวในบ้านเรือน ไปจนถึงสวนกระถางในเมืองหนาแน่น เป็นภูมิทัศน์ที่สังคมไทยคุ้นชิน การพัฒนาสังคมสู่ยุคอุตสาหกรรมพร้อมความเป็นเมืองลงบนพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร ส่งผลให้ความใกล้ชิดระหว่างแหล่งผลิตอาหารกับสังคมเมืองห่างไกลกันขึ้น ในขณะเดียวกันสูญเสียพื้นที่ทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์รอบ ๆ เมือง
แนวคิดเกษตรเมืองสามารถประยุกต์ใช้กับการออกแบบภูมิทัศน์เมืองรูปแบบใหม่ได้ แนวคิดการสร้างนิเวศเกษตร (Agroecology) ชุมชนเมืองเกษตร (Agrihood) และแนวกันชนสีเขียว (Green belt) เป็นตัวอย่างของหลักแนวคิดทฤษฎีในการออกแบบภูมิทัศน์หรือวางผังเมืองให้มีพื้นที่เกษตรและพื้นที่สีเขียวอยู่ร่วมกับพื้นที่เมืองอย่างเกื้อกูล
นิเวศเกษตร มีนิยามใกล้เคียงกับเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเน้นที่วิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม สอดคล้องกับระบบนิเวศธรรมชาติ ส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรควบคู่กับการสร้างสมดุลส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร พร้อมฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลายทางชีวภาพ นิเวศเกษตรถือเป็นทางเลือกในการออกแบบโดยใช้หลักการธรรมชาติ อาศัยความรู้เฉพาะถิ่นที่ ลดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นทางเลือกสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนรวมถึงมีส่วนในการสร้างสังคมที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การออกแบบชุมชนเมืองเกษตร ในสังคมตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ แคนาดา มีกระแสการออกแบบผสมผสานการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ากับระบบผลิตอาหาร เพื่อทำให้เกิดการเกื้อกูลกันของทั้งพื้นที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม พื้นที่ผลิตอาหาร และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโครงการ ตัวอย่างโครงการ มีทั้งรูปแบบลงทุนโดยกลุ่มทุน พัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่ และรูปแบบที่เจ้าของโครงการเป็นกลุ่มเกษตรกรพัฒนาโครงการขึ้นมาในพื้นที่ของตน โดยมีการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัย ควบคู่กับกิจกรรมเกษตรเป็นทั้งแหล่งผลิตอาหารให้กับชุมชน รวมถึงเป็นพื้นที่นันทนาการและพักผ่อนอีกด้วย ตัวอย่างกิจกรรมเชิงเกษตรได้แก่ สวนครัวของชุมชน โรงเรือนเพาะปลูก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ครัวส่วนกลาง และพื้นที่จัดกิจกรรมชุมชน กลุ่มผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของโครงการเหล่านี้เป็นครอบครัวเดี่ยวของคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะและกำลังซื้อ สามารถเลือกรูปแบบการจัดการพื้นที่เกษตรในโครงการได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการบริหารของโครงการ

การวางผังแนวกันชนสีเขียว ทฤษฎีการเว้นที่ว่างสีเขียวเป็นกันชนของเมืองและเป็นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวหลากประโยชน์ ทั้งเป็นพื้นที่รับน้ำ ผลิตอาหาร ใช้ทั้งกำหนดกรอบการขยายของเมือง และสร้างนิเวศบริการ (Ecosystem service) ให้กับพื้นที่เมือง คนเมือง และระบบนิเวศ ตัวอย่างพื้นที่รอบกรุงเทพที่เห็นได้ชัด คือ พื้นที่ตลิ่งชัน และมีนบุรี- ลาดกระบัง ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม แม้ว่าการประยุกต์ใช้หลักการนี้ ในความเป็นจริงจะไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างต่อเนื่องก็ตาม
เมืองแห่งเกษตรกรรมและครัวโลก ความจริงหรือความฝัน?? หากมองกลับมาตั้งคำถามกับรูปแบบการบริโภคและความสัมพันธ์ของแหล่งผลิตอาหารของไทย ณ ขณะนี้ มีความย้อนแย้งซ่อนอยู่ เกษตรกรนอกจากประสบปัญหาการผลิตที่ยากขึ้นแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับราคาผลผลิตตกต่ำและการนำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศ ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองอยู่ห่างไกลกับแหล่งผลิตอาหารมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทย ถูกประเมินให้อยู่ในอันดับประเทศที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก ปี 2564 ในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Global Food Security Index 2021) โดยนิตยสาร the Economist หากเปรียบเทียบดัชนีความมั่นคงทางอาหารของไทยกับสิงคโปร์ ประเทศซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกและผลิตอาหารน้อยนั้น แต่กลับมีความมั่นคงทางอาหารสูงกว่า โดยอยู่ในลำดับที่ 15 ของโลก เปรียบเทียบจากประเด็นสี่ด้าน ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ความเพียงพอของอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น หากวิเคราะห์ประกอบกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ คนไทยจะเสี่ยงเผชิญกับสภาวะการขาดอาหาร และการแย่งชิงอาหาร เนื่องจากผลผลิตการเกษตรและอาหารลดลง
ความท้าทายของภูมิทัศน์เกษตรชานเมืองกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis Challenge for Peri-urban Agricultural Landscape)
จากรายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ IPCC 2021 (Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change) สรุปการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในอนาคตจากความแปรปรวนของภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติถี่และรุนแรงขึ้น หากเปรียบเทียบกับช่วงปี ค.ศ. 1850–1900 โดยฉากทัศน์ในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มแห้งแล้งขึ้นจากอุณภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยลง ส่งผลให้ความชื้นในดินลดลง ดังนั้นการทำเกษตรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีบริหารจัดการแบบลดความเสี่ยง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทายของชุมชนเกษตรชานเมืองเดิมที่กำลังจะหายไป เพราะถูกพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่เมือง ในบริบทพื้นที่กรุงเทพมหานครมหานครและปริมณฑลที่มีประชากรมากกว่าสิบล้านคน ตัวอย่างเช่น พื้นที่บางกระเจ้าและทุ่งรังสิต ชุมชนสวนในคุ้งบางกระเจ้าเดิมซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมือง คนกรุงเทพกำลังสูญเสียปอดของเมืองไปหรือไม่ พื้นที่ทุ่งรังสิต ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ผลิตข้าวส่งออกและบริโภคในประเทศ กลับกลายเป็นพื้นที่เมืองและที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ละทิ้งระบบคลองรังสิตให้กลายเป็นที่ระบายน้ำของเมือง ในขณะเดียวกันกิจกรรมการเกษตรดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไปด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้น ความท้าทายนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง หากแต่เมื่อเมืองมีพื้นที่ใหญ่ขึ้น เสมือนว่าเป็นการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของคนโดยตรง ในความสัมพันธ์ที่คลุมเครือขึ้นกับมลพิษของเมือง ความท้าทายที่ใหญ่กว่าและซับซ้อนกว่าจะมาจากผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทั้งในพื้นที่เมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงพื้นเกษตรกรรมที่หลงเหลืออยู่และเสี่ยงต่อการสูญหายไปในอนาคต
การปรับตัวโดยทำความเข้าใจกับเงื่อนไขทางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปและนำระบบการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและสร้างกรอบความเข้าใจใหม่ในการทำเกษตร เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน สร้างทางเลือกการออกแบบภูมิทัศน์เกษตรให้อยู่คู่กับบริบทเมืองและชานเมืองได้ ตัวอย่างของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัตโนมัติ ที่สามารถประยุกต์ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบกับการคาดคะเนและบริหารจัดการกิจกรรมการเกษตร ได้แก่ การตรวจวัดสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และระดับความชื้นในดิน หากเข้าใจชุดข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการควบคุมปริมาณน้ำตามที่พืชต้องการ โดยประหยัดทรัพยากรพลังงานในการสูบน้ำและควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกจากพื้นที่อื่น หรือในพื้นที่ได้ หากเกษตรกรชานเมืองสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ พื้นที่เกษตรชานเมืองเหล่านี้ ยังสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารใกล้พื้นที่เมือง เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารพร้อมให้บริการทางนิเวศให้กับเมืองได้

ตัวอย่างพื้นที่นำร่องต้นแบบชุมชนเกษตรชานเมืองปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ กลุ่มแปลงใหญ่เตยหอม คลองสาม” มีพื้นที่ปลูกเตยหอมรวมกันทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยสมาชิกในกลุ่มได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมธรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจาก CFLI (Canada Fund for Local Initiatives) ร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ทำความเข้าใจของชุมชนเกษตรชานเมืองเสริมสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหนึ่งในกิจกรรมร่วมมือ คือ สร้างสถานีเรียนรู้และตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ (IoT weather station) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางของชุมชนเกษตร สามารถตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม อุณหภูมิ ในพื้นที่รัศมีการให้บริการ 4 ตารางกิโลเมตร รวมถึงตรวจวัดค่าความชื้นในดินเฉพาะพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ

จากกระบวนการทำความเข้าใจความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติของชุมชน ตามหลัก Community Based Resilience Assessment (CoBRA) ชุมชนเกษตรชานเมืองแห่งนี้ ระบุประเด็นความเสี่ยงและความท้าทายของปัญหาด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จากน้ำเสีย และขยะ รวมถึงการแพร่ระบาด Covid-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน ปัจจัยเสี่ยงข้างต้นนี้อยู่ในความกังวลมากกว่าภัยพิบัติเช่น น้ำท่วม สังเกตได้ว่า ชุมชนเกษตรชานเมืองแห่งนี้ ได้รอดพ้นผ่านวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สามารถปรับตัวอยู่รอดและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างปกติ การถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงรับมือกับสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจกับความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างสมดุลของกิจกรรมเกษตรชานเมือง สามารถสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนที่หลากหลายในพื้นที่โดยรอบได้
การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรชานเมือง เป็นส่วนสำคัญในการเตรียมพร้อมของชุมชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ และผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ บทบาทและความหลากหลายของนิเวศเกษตรยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยสามารถขยายการเรียนรู้และปรับตัวไปกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ชานเมืองในวงกว้างขึ้น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกษตรให้อยู่คู่กับพื้นที่เมืองในอนาคตอย่างยืดหยุ่นและพร้อมที่จะฟื้นสภาพได้
เราจะร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองและภูมิทัศน์เมืองที่มีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร ไม่ให้ซ้ำรอยกับเมืองที่มีความเปราะบางและห่างไกล ขาดสัมพันธ์กับแหล่งผลิตอาหาร บทบาทของภูมิทัศน์เกษตรเมืองจะเสริมสร้างความยืดหยุ่นของเมืองได้อย่างไร?? และมีรูปแบบเกษตรเมืองแบบใดบ้าง ที่สามารถปรับใช้งานกับพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร??
รายการอ้างอิง
Global Food Security Index (GFSI) (economist.com)
PCC, 2021: Summary for Policymakers. In: Climate Change 2021: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [MassonDelmotte, V., P. Zhai, A. Pirani, S.L. Connors, C. Péan, S. Berger, N. Caud, Y. Chen, L. Goldfarb, M.I. Gomis, M. Huang, K. Leitzell, E. Lonnoy, J.B.R. Matthews, T.K. Maycock, T. Waterfield, O. Yelekçi, R. Yu, and B. Zhou (eds.)]. Cambridge University Press. In Press.