รศ. ดร. เสรี ศุภราทิตย์
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ม.รังสิต
คณะกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
ครบรอบ 16 ปี เหตุการณ์คลื่นสึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2547 ที่สร้างความสูญเสียกับหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน หลังจากนั้นจนปัจจุบันเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรง มากกว่า 6.5 ริกเตอร์ หลายครั้ง ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน ทำให้คนไทย โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อกับประเทศพม่า รวมทั้งชุมชนริมชายฝั่งทะเลต่างตกอยู่ในความวิตกกังวล และไม่สบายใจกับข้อมูลต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และหน่วยงานในต่าง ประเทศ ดังเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ บริเวณประเทศนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณประเทศญี่ปุ่น และอินโดนีเซียหลายครั้ง และเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ ที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดภูเก็ต ขนาด 7.8M บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 (รูปที่ 1) ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กน้อยกว่า 5 เซนติเมตรที่วัดได้บริเวณทุ่นน้ำลึกในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไม่มีพลังงาน มากพอที่จะ เคลื่อนตัวมายัง ชายฝั่งทะเลประเทศไทย แต่ได้สร้างความโกลาหล ความแตกตื่นให้กับชาวภูเก็ตมากมาย รวมทั้งข่าวลือเรื่อง คลื่นสึนามิจากหลายแหล่ง ทำให้ประชาชน เกิดความไม่มั่นใจในระบบเตือนภัยของภาครัฐที่มีอยู่ และเกิดคำถามตามมา มากมาย ถ้าแผ่นดินไหวเพิ่มความรุนแรงอีก 1 ระดับเป็น 8.8M อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเรา พลังงานของแผ่นดิน ไหวจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 เท่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไร ? ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ อย่างต่อเนื่อง และต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา

จากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต ทำให้เราทราบถึงความเสี่ยงของประเทศจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาด รุนแรง 3 แหล่ง (ดูรูปที่ 2) กล่าวคือ แหล่งแรก อยู่บนแผ่นดินในประเทศพม่า (บริเวณรอยเลื่อน Sagaing) ที่พาดผ่าน ตอนกลางของประเทศพม่าซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทย (ประมาณ 300 กม) เป็นรอยเลื่อนลักษณะเฉือน และมีพลังสูง ซึ่งในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6-8 ริกเตอร์กว่า 20 ครั้ง โดยมีครั้งที่รุนแรงที่สุด (8 ริกเตอร์) ในปี พ.ศ. 2455 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี (เขื่อน วชิราลงกรณ์ และ เขื่อนศรีนครินทร์) แผ่นดินไหว (ขนาด 6.8 ริกเตอร์) ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 บริเวณเมือง Taungdwingy ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม สะพานหลายแห่งในประเทศ พม่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานความเสียหายต่อตัวเขื่อนทั้งสองในประเทศไทย

สำหรับแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวแหล่งที่ 2 อยู่บริเวณรอยเลื่อนซุนดา ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนเดียวกับ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิในปี พ.ศ. 2547 ปัจจุบันยังคงเกิด แผ่นดินไหวบริเวณนี้บ่อยครั้ง มีการติดตั้งทุ่นน้ำลึก บริเวณนี้ 6 ทุ่น (ดูรูปที่ 3) ประเทศไทยมีหน้าที่ดูแล 2 ทุ่น กล่าวคือทุ่นแรก (หมายเลข 23401) เป็นทุ่นที่ได้รับความช่วยเหลือ จากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีการติดตั้ง และเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2549 อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ตประมาณ 1,200 กม. ส่วนอีก 1 ทุ่น (หมายเลข 23461) ประเทศไทยได้ลงทุนติดตั้ง และเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2560 ห่างจากชายฝั่งประมาณ 180 กม. ส่วนทุ่นที่เหลือ 4 ทุ่น เป็นของประเทศอินเดีย การเฝ้าระวังติดตาม โดยอาศัยทุ่นน้ำลึกเพียงลำพังไม่เพียงพอเนื่องจาก ปัญหาด้านเสถียรภาพของทุ่นที่ติดตั้ง ประกอบกับการบำรุงรักษาที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง และมักจะเสียหายบ่อยครั้ง ไม่สามารถส่งสัญญาณได้ ดังนั้นระบบการประเมินการเกิดคลื่นสึนามิ (ดูรูปที่ 4) จึงมีความจำเป็นเพื่อให้ชุมชนได้ทราบ ถึงเวลา และความสูงคลื่นที่จะมีผลกระทบ ปัจจุบัน โรงแรมขนาดใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต และพังงา มีการใช้ระบบนี้อยู่ภายใต้ ความร่วมมือของศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ม.รังสิต กับ Climate Hazard Innovation Providers Co. Ltd. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชันบนมือถือโดยการใช้ศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์
สำหรับแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แหล่งที่ 3 อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณ รอยเลื่อนฟิลิปปินส์ ซึ่งจากการประเมิน พบว่า หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับที่รุนแรงประมาณ 8 M พื้นที่ชุมชนชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยก็จะได้รับผลกระทบ แต่เนื่อง จากอยู่ห่างจากรอยเลื่อนฟิลิปปินส์ประมาณกว่า 2,000 กิโลเมตร ประกอบกับน่านน้ำของประเทศไทยมีความลึกน้อย (< 100 เมตร) คลื่นจึงใช้เวลาในการเดินทางนาน และสูญเสียพลังงานไปมาก ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าปะทะชายฝัง โดยจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา จะมีคลื่นสูงเกือบ 1.0 เมตร ภายในเวลา 14 ชั่วโมงหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว คลื่นยังคงเคลื่อนตัวผ่านชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคิรีขันธ์ และเพชรบุรี โดยมีความสูงคลื่นประมาณ 0.50-1.0 เมตร และจะเข้าปะทะเกาะสมุย และ เกาะพงัน ภายในเวลา 16 ชั่วโมง จากนั้น คลื่นยังคงเคลื่อนตัวอย่างช้าๆเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยภายในเวลา 18 ชั่วโมงโดยมีความสูงคลื่นน้อยกว่า 0.50 เมตรตั้งแต่ชายฝั่ง จังหวัดตราด ระยอง พัทยา ชลบุรี รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าความสูงคลื่นสึนามิจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่คลื่นสึนามิเป็นคลื่นยาวที่มีพลังงานมากกว่าคลื่นชายหาด ในอดีตมีผู้ เสียชีวิตจำนวนมากจากคลื่นสึนามิที่ไม่สูงมากนักในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่หนีขึ้นที่สูง


กล่าวโดยรวม ประเทศไทยพร้อมรับภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิหรือไม่ ต้องประเมินจากตัวชี้วัดดังรูปที่ 5 ชุมชนปลอด ภัยคลื่นสึนามิ ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ระบบการอพยพหนีภัย ระบบเตือนภัย การศึกษา และความตระหนัก จึงต้องประเมินกันเองนะครับ
