ปัญหาปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีความเข้มข้นสูงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี เหมือนการนำเอาปัญหาเดิมมาเล่าใหม่ แต่การกล่าวถึงปัญหาซ้ำๆก็มีประโยชน์ในด้านการให้ความรู้ และการเสริมสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยปัญหาฝุ่นขนาดเล็กเป็นปัญหาที่มีผลกระทบทั้งในด้านของสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทางด้านสุขภาพนอกจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว อย่างเช่น หอบหืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ ยังมีหลายๆ โรคที่เราคิดไม่ถึงว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝุ่นขนาดเล็ก อย่างเช่น ปัญหาทางสุขภาพจิต หรือแม้กระทั่งโรคอ้วน โรคเบาหวาน ก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากฝุ่นขนาดเล็กมีหลากหลายตั้งแต่การลดทัศนะวิสัยในการมองเห็น ไปจนถึงการทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่วนทางด้านเศรษกิจ ผลกระทบของปัญหาปริมาณฝุ่นขนาดเล็กเกินมาตรฐานซ้ำซากทำให้ธุรกิจต่างๆ ซบเซาลง อย่างเช่น การศึกษาในประเทศจีนพบว่าการเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นขนาดเล็กในอากาศมีความสัมพันธ์กับการลดลงของปริมาณนักท่องเที่ยวถึง 0.4% และ 1.2% สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศ ตามลำดับ ดังนั้นปัญหาฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย จึงถูกจัดเป็นปัญหาที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนในการจัดการอย่างมาก เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ต้องการการจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาด ถูกต้อง และรวดเร็ว รวมถึงยังต้องการเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหา ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นขนาดเล็กของประชาชนจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเคื่องมือหรือมาตรการในการจัดการมลพิษต่างๆ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ สภาพทางอุตุนิยมวิทยา และปริมาณมลพิษที่ระบายออกมาจากแหล่งกำเนิด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาฝุ่นขนาดเล็กจึงมีความเชื่อมโยงกับฤดูกาล และสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ ในช่วงที่อากาศปิดเปรียบเสมือนการที่เราเผาขยะในห้องปิดเล็กๆ ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ มลพิษก็จะเพิ่มขึ้นในห้องปิดนั้นและไม่ได้กระจายไปที่อื่น ดังนั้นปัจจัยทางสภาพอากาศจึงเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ได้แต่คอยตั้งรับ ดังนั้นการจัดการมลพิษทางอากาศ รวมถึงปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่ถูกต้อง และเหมาะสม คือการจัดการที่แหล่งกำเนิด ก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ ภายหลังจากที่ฝุ่นถูกปล่อยออกมาแล้ว การจัดการจะยากมากและไม่คุ้มค่าทางเศรษศาสตร์ ดังนั้นถ้าเรากลับมามองที่การจัดการฝุ่นที่แหล่งกำเนิด มาตรการต่าง ๆ ที่ทางภาครัฐสามารถใช้ได้ก็ต้องมีความแตกต่างในบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ต้องมีการจัดการที่เน้นไปที่รถยนต์ดีเซล และการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ส่วนจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออก ก็ต้องมีการจัดการที่เน้นไปที่การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และการเผาอ้อยตามลำดับ
ทั้งนี้ถ้ามองไปที่การจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีมาตรการไหนที่จะไม่มีผู้เสียประโยชน์เกิดขึ้น การจัดการมลพิษจากรถยนต์ดีเซลในกรุงเทพมหานคร หรือการห้ามเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ มาตราการเหล่านี้จะต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องเสียประโยชน์ทั้งนั้น เช่น ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้ประกอบการที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล หรือเกษตรกรบางส่วนที่ต้องการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการตระหนักถึงปัญหาของประชาชนและยอมเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่ออากาศสะอาดส่วนรวม จะมีส่วนสำคัญในการจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศไทย ทั้งนี้มาตรการที่จะนำมาใช้ควรจะมีความชัดเจน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เช่น แทนที่จะเจาะจงรถบางประเภทที่จะห้ามใช้ในเขตเมืองในช่วงวิกฤตฝุ่นขนาดเล็กซึ่งจะเกิดข้อวิจารณ์ได้ว่ามีการเลือกปฏิบัติ ควรห้ามรถทุกชนิดที่ไม่ได้มีมาตรฐานตามที่กำหนดเข้าในเขตเมือง ดังนั้นถ้าอยากใช้รถในเขตเมืองก็ต้องใช้รถที่มีมาตรฐานตามที่ภาครัฐได้ตั้งไว้ รวมทั้งการห้ามเผาอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ต่างๆ และควรมีมาตรการรองรับเพื่อลดผลกระทบของผู้เสียประโยชน์ อย่างเช่น การสนับสนุนทางการเงินหรือภาษีเพื่อผลักดันให้มีการใช้รถเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 และ 6 หรือการรถพลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง รวมทั้งการสนับสนุนให้มีบริษัทเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อไปแปรรูปหรือใช้งานอย่างอื่นอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องทิ้งเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ในพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการปลูกพืชใหม่ได้ทันที

ทางด้านการจัดการปัญหาของภาครัฐ เราจะเห็นบทบาทของภาครัฐที่ชัดเจนขึ้นตามสื่อต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างความตระหนักถึงปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อด้านต่างๆ โดยถ้ามองถึงค่าเฉลี่ยรายปีของความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กในประเทศไทยจะเห็นว่ามีค่าลดลงทุกปี ซึ่งในส่วนนี้ต้องชมเชยภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรการต่างๆ อย่างไรก็ตามถ้ามองถึงการจัดการปัญหาในช่วงวิกฤต และค่าความเข้มข้นของฝุ่นรายชั่วโมง ยังต้องบอกว่าภาครัฐยังปัญหาอีกเยอะที่ยังต้องจัดการ โดยที่มาตรการต้องมีความชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และช่วงเวลาต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเลื่อนเวลาในการบังคับใช้มาตรฐานรถใหม่เป็นมาตรฐานยูโร 5 และ 6 รวมถึงการเลื่อนเวลาการบังคับใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ และการที่ยังมีจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ห้ามเผาต่างๆของประเทศไทย แสดงถึงการจัดการปัญหาที่ยังขาดความเด็ดขาดและไม่ทันต่อเหตุการณ์ การฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นขนาดเล็กในอากาศไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ซึ่งน่าจะยกเลิกได้แล้วเนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในการจัดการปัญหามากขึ้น การฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นขนาดเล็กในอากาศจึงไม่ได้เพิ่มความมั่นใจในการจัดการปัญหาของภาครัฐในสายตาประชาชน ส่วนการใช้เครื่องมือเพื่อฟอกอากาศในบรรยากาศก็ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเครื่องมือต่างๆ ที่ได้พัฒนามาแล้ว ก็ไม่น่าจะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ใช้งาน แต่ควรนำมาพิจารณาว่าจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร อย่างเช่น สามารถนำมาใช้ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ประชาชนต้องใช้เวลาภายนอกอาคารนาน ๆ ได้หรือไม่ เช่น บริเวณป้ายรอรถโดยสารประจำทาง บริเวณท่าเรือ เป็นต้น ถ้าไม่เกิดประโยชน์หรือไม่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ก็ควรจะเสนอข้อเท็จจริงสู่ประชาชน
การดูแลสุขภาพในช่วงปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าสูงจึงมีความสำคัญเนื่องจากเราคงจะต้องอยู่กับปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไปอีกหลายปี ดังนั้นประชาชนควรมีการตรวจเช็กค่า Air Quality Index (AQI) จากเว็บ Air4thai ซึ่งเป็นเว็บไซด์ที่รายงานข้อมูลการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศของทางกรมควบคุมมลพิษอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตฝุ่นขนาดเล็ก ในวันที่ AQI อยู่ในช่วงสีฟ้าและสีเขียว ประชาชนสามารถที่จะออกกำลังกายและทำกิจกรรมภายนอกอาคารได้ตามปกติ และควรงดออกกำลังกายภายนอกอาคารในวันที่คุณภาพอากาศไม่ดี โดยส่วนมากในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเช้าของแต่ละวันค่าความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กจะสูงกว่าช่วงเวลาอื่นในวันเดียวกัน ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาบ่ายๆ ในการออกกำลังกายอาจจะเหมาะสมกว่า โดยควรเช็คข้อมูลคุณภาพอากาศจากเว็บ Air4thai ก่อนทำกิจกรรมภายนอกอาคาร และสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกไปภายนอกอาคาร เมื่ออยู่ในอาคารควรปิดหน้าต่างปิดประตู เปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องกรองอากาศ นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ได้สร้างห้องอากาศสะอาด (safety room) ซึ่งสามารถใช้เป็นที่หลบภัยในช่วงที่ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าสูงได้ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งดูแล้วเราควรจะต้องพยายามประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ ส่วนคำถามว่าเมื่อไหร่เราถึงจะได้อากาศสะอาดที่เข้าถึงได้ทุกคน คงต้องย้อนถามว่า พวกเราพร้อมที่จะเสียสละความสะดวกส่วนตัวเพื่ออากาศส่วนรวมแล้วหรือไม่