“น้ำรอระบาย” วาทกรรมหน่วงเวลาให้เทวดา นางฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ศัพท์คำนี้ไม่มีอยู่จริงในศาสตร์วิศวกรรรมทรัพยากรน้ำ เรามีน้ำเก็บกัก น้ำท่วม แต่เราไม่เคยมีค่าที่เหมาะสมของ ‘น้ำรอระบาย’ ในการออกแบบระบบระบายน้ำ ดังนั้น ผู้คิดประดิษฐ์คำนี้ขึ้นจึงเป็นเพียงการโยนความรับผิดชอบให้คนกรุงเทพทำใจและ ‘ยอมจำนน’ ต่อเหตุการณ์น้ำท่วมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการหลายคนได้วิเคราะห์จากข้อมูลการทรุดตัวของกรุงเทพมหานคร ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และคลื่นพายุซัดฝั่งสูงขึ้น คาดการณ์อนาคตว่าในอีก 30 ปีข้างหน้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ จมอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวนี้สร้างความตระหนกไม่น้อยจนเกิดกระแสให้ย้ายเมืองหลวง

ที่มา: เว็บไซต์ ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1950061
เมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลัง พบว่าในอดีตเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครหลายต่อหลายครั้ง ข้อมูลจากเวป Mthai ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งน้ำท่วมสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม หลังจากนั้นได้มีน้ำท่วมเกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ท่วม เช่น เมื่อปี พ.ศ.2518 2521 2523 2526 2529 2533 2537 2538 2549 ซึ่งล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบน น้ำเหนือจากต้นน้ำไหลลงมา น้ำในแม่น้ำมีระดับสูงประจวบเหมาะกับที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน ความถี่ของการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครบ่อยครั้งขึ้น แม้บางครั้งปริมาณฝนในพื้นที่ไม่มาก หรือ ตกในระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็สร้างปัญหาน้ำท่วมขังที่นำมาซึ่งปัญหาจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนจำนวนมากทั่วทุกพื้นที่ น้ำท่วมขังอาจจะดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ประชากรแฝง นักท่องเที่ยว ประกอบกับการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ย่อมทำให้ระดับความเดือดร้อนเพิ่มทวีอย่างเทียบไม่ได้กับเหตุการณ์ในอดีต และเมื่อพิจารณาร่วมกับแนวโน้มการเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น กรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบจึงต้องการหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง ข้อมูลจากแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2563 ระบุถึงเป้าหมายการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากน้ำฝน น้ำหนุน และน้ำเหนือ โดยการใช้สิ่งก่อสร้างถาวรที่เป็นมาตรการก่อสร้างต่างๆ อาทิ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ก่อสร้างระบบผันน้ำ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขยายท่อระบายน้ำในถนนสายหลักให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จัดหาแก้มลิงเพิ่มเติม ก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ก่อสร้างและปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสำคัญ รวมถึงการขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงท่อระบายน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานี้ กรุงเทพมหานครได้ทุ่มเทงบประมาณไปแล้วเกือบเจ็ดหมื่นล้านบาท (เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์, 2564) แต่คนกรุงเทพยังคงรู้สึกว่า ‘ฝนตกทีไร ตกใจทุกที’ และทำใจในชะตากรรมเมื่อฝนตก อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาทางเทคนิค โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่สิ่งก่อสร้าง แต่แท้ที่จริงแล้วเรายังขาดการพิจารณาในมิติอื่นๆ ซึ่งมีอีกหลายปัจจัย และนั่นอาจเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนจากการเกิดน้ำท่วมได้
แนวคิดความเสี่ยงน้ำท่วม (Flood risk concept)
ความเสี่ยง ในมิติของภัยน้ำท่วมนั้นมีนิยามที่หลากหลาย ในที่นี้ พิจารณาความเสี่ยงว่าเป็นผลจากองค์ประกอบสองประการ คือ ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ และ ผลที่จะตามมา (Smith, 2004)

ดังนั้น ความเสี่ยงน้ำท่วม (flood risk) จึงเป็นผลจากความน่าจะเป็นของเหตุการณ์น้ำท่วมและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพมนุษย์ สิ่งแวดล้อม มรดกทางวัฒนธรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การจัดการความเสี่ยงน้ำท่วม (Flood Risk Management) จึงไม่ใช่เพียงการจัดการด้านโครงสร้าง หรือ ทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งต้องพิจารณาถึงทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ด้วย
จากข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วมในหลายประเทศทั่วโลกค่อนข้างชี้ชัดว่าไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่ยังสามารถบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยมาตรการที่หลากหลาย ซึ่งการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วม (Flood Vulnerability Index) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถใช้สนับสนุนผู้มีอำนาจตัดสินใจในการประเมินและวิเคราะห์เหตุการณ์น้ำท่วม ให้สามารถปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในระดับพื้นที่เพื่อลดความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมได้ กล่าวคือ ช่วยให้ระบุได้ว่าพื้นที่ใดมีความเปราะบางมาก-น้อยอย่างไร มีสาเหตุมาจากปัจจัยใดบ้าง จึงสามารถจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสียหายล่วงหน้าภายใต้งบประมาณที่มี ดังที่มีการประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อเมริกาใต้ อิหร่าน บังคลาเทศ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น โดย Balica et al. , 2009 ได้ประเมิน FVI จากองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และ กายภาพ และปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 ด้านดังกล่าวเชื่อมโยงกันด้วยปัจจัยความเปราะบาง (factors of vulnerability) ได้แก่ ความล่อแหลม (exposure) ความอ่อนไหวต่อการเกิดผลด้านลบ (susceptibility) และ ความยืดหยุ่นยอมรับปรับตัว (resilience) มีสมการแนวคิด FVI คือ

ค่าความเปราะบางรวม (Total FVI) จึงเป็นผลรวมขององค์ประกอบทุกด้าน ดังแสดงในสมการที่ (3)

โดย E คือ exposure, S คือ susceptibility และ R คือ resilience
ปัจจัยความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วม (Flood Vulnerability Factors)
ระบบทรัพยากรน้ำมีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมเนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความล่อแหลม ความอ่อนไหวต่อการเกิดผลด้านลบ และ ความยืดหยุ่นยอมรับปรับตัว
ความล่อแหลม (exposure) เป็นการประเมินค่าของสถานที่นั้นว่ามีโอกาส หรือมี ศักยภาพที่จะเสียหายจากการเกิดน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด Balica, 2007 ได้ให้นิยามว่าเป็นความโน้มเอียงของระบบที่จะถูกทำลาย (disrupt) เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมในบริเวณนั้น โดยพิจารณาจากคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐาน สินค้าที่มี ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือชุมชน และแสดงขอบเขตการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ซึ่งมักประมาณออกมาเป็นค่าความหนาแน่นหรือแสดงช่วงเวลา
ตัวบ่งชี้ค่าความล่อแหลมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ ลักษณะเฉพาะขององค์ประกอบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ระดับความสูงต่ำ ความหนานแน่นของประชากร การใช้ประโยชน์ที่ดิน ความใกล้-ไกล จากแม่น้ำและพื้นที่น้ำท่วม และกลุ่มที่ 2 คือ ลักษณะทั่วไปของน้ำท่วม ได้แก่ รอบปีการเกิดซ้ำ (ความถี่ของการเกิดน้ำท่วม) ของน้ำท่วมรูปแบบต่างๆ ซึ่งข้อมูลทั้งสองกลุ่มต่างก็แสดงถึงความถี่ของเกิดน้ำท่วม ระยะเวลา และความรุนแรง
ความอ่อนไหวต่อการเกิดผลด้านลบ (susceptibility)
แนวคิด susceptibility ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ sensitivity ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้วหลายปี จึงมีนิยามที่ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ ศักยภาพที่ทรัพย์สินและวัสดุต่างๆ จะได้รับความเสียหายในขณะที่เกิดน้ำท่วมและภัยพิบัติต่างๆ ระดับการได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ขอบเขตหรือระดับที่แต่ละองค์ประกอบในระบบจะได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ รวมทั้งบริบททางสังคมของการก่อตัวของความเสียหายจากน้ำท่วม ในที่นี้ พิจารณา susceptibility ว่าเป็นองค์ประกอบของระบบ อันได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้รับความเสียหายในขณะที่เกิดน้ำท่วม
ความยืดหยุ่นยอมรับปรับตัว (resilience)
แนวคิด resilience และ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความต้านทาน (resistance) ใช้อธิบายความสามารถของระบบในการรับมือกับสิ่งรบกวนและการคงอยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะที่สำคัญของตัวเอง ในมุมมองของความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมมีการนิยาม resistance ว่าเป็นความสามารถของระบบในการต้านทานน้ำท่วม และ นิยามคำว่า resilience ว่าเป็นความสามารถของระบบในการฟื้นจากน้ำท่วม ในที่นี้จึงเรียก resilience ว่าเป็นความยืดหยุ่นยอมรับปรับตัว ซึ่งเป็นขีดความสามารถของระบบที่ประกอบด้วยสังคมหรือชุมชน ในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับอันตราย ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สามารถคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ความยืดหยุ่นยอมรับปรับตัวต่อความเสียหายจากการเกิดน้ำท่วมจึงสามารถพิจารณาได้จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทั้งในระหว่างที่เกิดและหลังเกิดน้ำท่วม กล่าวคือ ระบบหรือชุมชนสามารถยืนหยัดหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อบรรเทาหรือลดความเสียหายให้น้อยที่สุดได้เพียงใด
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก FVI เป็นดัชนีเชิงพื้นที่ การนำไปประยุกต์ใช้จึงควรพิจารณาออกแบบพารามิเตอร์และดัชนีให้เหมาะสมกับความซับซ้อน ขนาด และลักษณะของแต่ละพื้นที่ Balica, 2009 ได้ยกตัวอย่างการเลือกตัวบ่งชี้สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยว่าได้พิจารณาจาก 71 พารามิเตอร์ แต่ในการพิจารณาความเปราะบางของพื้นที่เมืองได้ลดลงมาเป็น 28 พารามิเตอร์
การพัฒนา FVI สำหรับพื้นที่เมือง (Urban Area FVI Development)
แนวคิดการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทั้งระดับลุ่มน้ำ พื้นที่รับน้ำย่อย และพื้นที่เมือง ในที่นี้จะอธิบายถึงเฉพาะพื้นที่เมือง ซึ่งเมืองส่วนมากมีประชากรหนาแน่น จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม ในการลดความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมต้องพิจารณาจากปัจจัยเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวอาจอยู่ได้มากกว่าหนึ่งกลุ่ม ขึ้นอยู่กับมุมมองและการให้นิยาม
ตัวอย่างตัวชี้วัดของแต่ละปัจจัยในการวิเคราะห์ค่า FVI
- ด้านสังคม : ความหนาแน่นของประชากร ประชากรที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม ประชากรที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม ประชากรที่มีฐษนะยากจน สัดส่วนของพื้นที่เมืองและพื้นที่ปริมณฑล ประสบการณ์ในอดีต ความตระหนักและการเตรียมพร้อม การเติบโตของประชากร ระบบเตือนภัย เส้นทางอพยพ ที่พักพิง
- ด้านเศรษฐกิจ : ความใกล้-ไกลจากแม่น้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ปริมาณการไหลในแม่น้ำ ปริมาณฝน การว่างงาน การเติบโตของเมือง ความเหลื่อมล้ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ปริมาณการลงทุน
- ด้านสิ่งแวดล้อม : การใช้ประโยชน์ที่ดิน สัดส่วนการเป็นพื้นที่เมือง ระดับน้ำบาดาล การจัดการขยะ ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังน้ำท่วม ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม
- ด้านกายภาพ : ปริมาณฝน ความใกล้-ไกลจากแม่น้ำ อัตราการไหล ระดับน้ำท่วม ความถี่ของเกิดน้ำท่วมปริมาณน้ำท่ารายปี การระเหย ถนน คันกั้นน้ำ ความจุของเขื่อนในการเก็บกักน้ำ
ทั้งนี้ FVI มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 แสดงถึงความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมในระดับน้อยที่สุดถึงมากที่สุด โดยพื้นที่ที่มีค่า FVI น้อยกว่า 0.01 หมายถึง พื้นที่มีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมน้อยมาก สามารถฟื้นคืนสภาพได้เร็ว มีการประกันภัยน้ำท่วม มีการลงทุนในพื้นที่สูง พื้นที่ที่มีค่า FVI ระหว่าง 0.75 – 1.00 หมายถึงพื้นที่มีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมสูงมาก หลังเกิดน้ำท่วมจะใช้เวลาในการฟื้นคืนสภาพช้ามาก อาจใช้เวลาหลายปี ขั้นตอนเยอะ ขาดแคลนงบประมาณ
ตัวอย่างการประเมิน FVI เบื้องต้นของกรุงเทพมหานคร
Udnoon, 2020 ได้ประเมินดัชนีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์จำลองสภาพการไหลของฝนในแต่ละเขต ร่วมกับเทคนิค fuzzy ใช้ข้อมูลฝนรายปี ฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ฝนสำหรับออกแบบระบบระบายน้ำ อัตราการระเหย ระดับความลาดชันของพื้นที่ ประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำ ความหนาแน่นของประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ความหนาแน่นของการจราจร ประสิทธิภาพการจัดการขยะ พิจารณาเป็นรายเขต 50 เขต ได้ผลการประเมิน FVI ดังแสดงใน ภาพที่ 2
ผลการประเมิน FVI ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครมีสีส้ม สีแดง อาทิ พื้นที่บางขุนเทียน ประเวศ บางซื่อ คลองเตย ลาดกระบัง บางนา พระโขนง มีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมระดับสูง โดยในการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของแต่ละพื้นที่ต่อแต่ละปัจจัย พบว่า ปัจจุบันระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 37 – 62 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการดินทรุดจนท่อตกท้องช้าง มีตะกอนในท่อระบายน้ำ ท่อตัน เป็นต้น หมายความว่า จากค่าฝนที่ใช้ออกแบบระบบระบายน้ำที่รอบปีการเกิดซ้ำ 5 ปี ซึ่งมีค่าประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงนั้น แม้ฝกตกต่อเนื่องเพียง 30 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้แล้ว

ที่มา: Udnoon, 2020
นอกจากนี้ Udnoon, 2020 ยังระบุว่าการจราจรที่หนาแน่นส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดมีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมในระดับสูง ซึ่งมีผลต่อตัวชี้วัดความเปราะบางมากกว่าประสิทธิภาพการกำจัดขยะด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในการวางแผนเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมต้องดำเนินการระดับพื้นที่ ซึ่งแต่ละเขตมีข้อจำกัดและปัจจัยทางกายภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และงบประมาณต่างกัน การประยุกต์ใช้มาตรการเดียวกันกับทุกพื้นที่จึงไม่ใช่ทางออก และควรต้องศึกษาความอ่อนไหวต่อปัจจัยชี้วัดอื่น ๆ เพิ่มเติม
แนวคิดการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร
การที่กรุงเทพมหานครทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อปรับปรุงระบบระบายน้ำและก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกิดน้ำท่วมเป็นการลดความล่อแหลม (exposure) ของพื้นที่ลงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และกายภาพ จะเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมถึงมาตรการอื่นๆ ในการที่จะลดโอกาสในการเสียหาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของประชากรและระบบ ซึ่งสามารถดำเนินการไปพร้อมๆ กันได้ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งขยะเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กอย่างกระป๋อง ต้นไม้ กิ่งไม้ จนถึงขนาดใหญ่ เช่น โทรทัศน์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องสุขภัณฑ์ โซฟา แต่กรุงเทพมหานครยังอาจสามารถเพิ่มเรือเก็บขยะในลำคลองทุกเส้นได้ เพิ่มรอบการเก็บขยะตามถนนต่างๆ หรือใช้ถังขยะที่แข็งแรงพอที่จะไม่ล้มคว่ำเมื่อมีลมพัดแรง หรือฝนตกหนัก ซึ่งทำให้ขยะในถังไหลไปตามน้ำและปิดปากท่อระบายน้ำ ดังที่พบเห็นกันได้บ่อยครั้ง
นอกเหนือจากการสู้กับน้ำท่วมที่เราไม่มีทางเอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่กรุงเทพมหานครยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร คือ การพัฒนาระบบการพยากรณ์และเตือนภัยระยะสั้นที่แม่นยำ แม้กรุงเทพมหานครจะมีสถานีเรดาห์วัดอากาศหลายแห่ง แต่การประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อการเตือนภัยยังอยู่ในวงจำกัด กรุงเทพมหานครควรเพิ่มศักยภาพการพยากรณ์พื้นที่คาดว่าฝนจะตกและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการหรือเข้าไปในพื้นที่คาดว่าฝนจะตกและเกิดน้ำท่วมขัง การลดความหนาแน่นของประชากรในบางเขตที่ความเปราะบางสูงโดยกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่เปราะบางต่ำ การปรับใช้ประโยชน์ที่ดินตามลักษณะและข้อจำกัดทางกายภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อสถานการณ์ มาตรการด้านกฎระเบียบ การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การให้การศึกษา เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการไม่ใช้โครงสร้างแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งประชาชน และหลายหน่วยงานของรัฐ เป็นมาตรการที่ต้องใช้ความพยายามและใช้เวลา กรุงเทพมหานครควรเริ่มจัดลำดับความสำคัญและดำเนินมาตรการไม่ใช้โครงสร้างเหล่านี้ตั้งแต่วันนี้ แม้จะยังไม่เห็นผลในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าความเปราะบางเชิงพื้นที่ต่อการเกิดน้ำท่วมจะลดลงได้
มิฉะนั้น กรุงเทพมหานครคงต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า เราจะต้องเทงบประมาณลงน้ำรอระบายอีกกี่พันกี่หมื่นล้าน … จึงจะพอ?
เอกสารอ้างอิง
Balica, S. (2007). Development and Application of Flood Vulnerability Indices for Various Spatial Scales (Unpublished Master of Science thesis). UNESCO-IHE Institute for Water Education, Delft, Netherlands.
Balica, S., Douben, N., Wright, H.G. (2009). Flood vulnerability indices at varying spatial scales. Water Science & Technology, 60 (10), 2571-2580.
Balica, S. (2012). Applying the flood vulnerability index as a knowledge base for flood risk assessment (Unpublished Doctoral thesis). UNESCO-IHE Institute for Water Education, Delft, Netherlands.
ISDR (2004). Living with Risk; A global review of disaster reduction initiatives (2004 Version – Volume I). New York and Geneva : UNITED NATION.
Smith, K. (2004). Environmental Hazards: Assessing Risk and Reducing Dissaster. Routledge, London.
Udnoon, S., Sitang Pilailar, S., Chittaladakorn, S. (2016). Development of Stormwater Flood Vulnerability Index in Bangkok Metropolitan Area. Proceedings of the 3rd EIT International Conference on Water Resources Engineering. UdonThani : Mahasarakham University.
Udnoon, S., Sitang Pilailar, S., Chittaladakorn, S. (2017). Bangkhen Flood Vulnerability Index Rectification. Proceedings of the 4rd EIT International Conference on Water Resources Engineering (pp. 257 – 263). Chonburi : King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang.
Udnoon, S. (2020). Flood Vulnerability Index for Bangkok Stormwater Management, PhD Thesis. The Graduate School., Kasetsart University.
กรุงเทพมหานคร. (2563). แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เนื่องจากน้ำฝนและน้ำหนุน ประจำปี 2563.
เว็บไซต์ ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1950061
เว็บไซต์ MThai https://news.mthai.com/webmaster-talk/91302.html