เครื่องหมายอัศเจรีย์

ชุมชนคือคำตอบในการจัดการโควิด และพร้อมรับมือภัยพิบัติซ้ำซ้อน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนผู้ป่วย และอัตราการเสียชีวิตของประชาชนที่กระจายอย่างรวดเร็ว อันเป็นสถานการณ์ที่เกินกำลังที่รัฐบาลจะบริหารจัดการได้เพียงลำพังฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการใช้อำนาจรวมศูนย์ การยึดติดอยู่กับกฎหมายหรือกฎระเบียบมากจนเกินไป รวมถึงการออกแบบการใช้งบประมาณทั้งงบปกติและงบเงินกู้ที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน

การรวบอำนาจในการบริหารจัดการภัยพิบัติโรคอุบัติใหม่โดยรัฐบาล อาจไม่ใช่คำตอบที่จะสามารถรับมือในครั้งนี้ได้ เพราะสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายและหนักหน่วงออกไปทั้งประเทศ ทำให้ทรัพยากรปกติที่มีไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ไม่เพียงพอ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกินกำลังจะรับมือได้ เตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พอกับผู้ป่วยในขณะนี้  ทั้งที่ควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดการและรับมือภัยพิบัติโควิด-19 จะเป็นคำตอบที่รัฐบาลกังขาอยู่

โรคระบาดในมนุษย์ เป็นสาธารณภัย ใน มาตรา 4 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งรัฐบาลควรประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทั้งประเทศ จะทำให้การบริหารจัดการที่เอื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาดำเนินการป้องกันโรคระบาดได้เต็มศักยภาพ และใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้โดยไม่ระแวงว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะเรียกเงินคืนในอนาคต

ทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น และคลี่คลายกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์ ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ และการปรับแก้ระเบียบบางอย่างเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น (ตำบล อำเภอ จังหวัด) ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการเข้าไปจัดการหรือออกแบบแก้ไขกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในมิติต่าง ๆ ได้เอง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

  1. ระดับครัวเรือน ส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือได้เองเบื้องต้นในเรื่องการดำรงชีวิต อาหารการกิน การตรวจเชื้อ และการรักษาพยาบาล ทั้งยาหลักและสมุนไพร รวมถึงการศึกษาของบุตรหลานระดับชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนการรับมือโควิดข-19 จัดให้มีอาสาสมัครชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การเฝ้าระวัง และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ จัดให้มีศูนย์พักคอยและคลังอาหารชุมชน ทั้งนี้ อาสาสมัครควรจัดให้มีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม 
  2. ระดับตำบล จัดให้มีแผนการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดฯ ในพื้นที่ตำบล โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก และร่วมมือกับโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ท้องที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และองค์กรชุมชน ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีโรงพยาบาลสนามระดับตำบล และแผนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้ รวมถึงการศึกษาของเด็กในพื้นที่
  3. ระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้ช่องทางของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เข้ามาสนับสนุนให้องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่นได้มีช่องทางในการเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งเรื่องการจัดทำแผนการเฝ้าระวัง แผนการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อโรงพยาบาลหลักจะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจะดำเนินการให้บรรลุผลได้นั้นรัฐบาลจึงต้องปรับวิธีการ และแนงทางปฏิบัติให้เอื้อต่อการดำเนินการในทุกมิติ อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และรวดเร็ว โดยมีแนวทางที่ปฏิบัติได้ ดังนี้

การเพิ่มกลไกการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19

ประกาศให้โรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และให้ทุกจังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯ พ.ศ. 2550 ด้วย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันโรคระดับท้องถิ่น โดยให้บริหารจัดการทุกมิติ โดยการอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยบริหารจัดการเต็มระบบ ทั้งการดูแลอาสาสมัคร การดูแลผู้ป่วย ผู้ถูกกักตัว ผู้อยู่ในศูนย์พักคอย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไม่เลือกปฏิบัติ และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับตำบล

รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นกลไกรองรับการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างเป็นระบบ อย่างน้อยใน 4 ระบบ คือ ระบบ Home Isolation, ระบบ Community Isolation, ระบบโรงพยาบาลสนาม และระบบโรงพยาบาลชุมชน

การฟื้นฟู เยียวยา เศรษฐกิจฐานรากและสังคมอย่างมีส่วนร่วม

เร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อกระจายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม และหากจำเป็นต้องมีวัคซีนทางเลือกสำหรับผู้ที่พร้อมจ่าย รัฐจะต้องกำหนดราคากลางสำหรับการช่วยเหลือบางส่วน โดยต้องไม่ปล่อยให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนกับประชาชนทุกกลุ่มทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนหรือสัญชาติใดก็ตาม

ดำเนินมาตรการให้เกิดการผลิต กระจาย ชุดตรวจโควิด ATK (Antigen Test Kit) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยง่าย และควรกำหนดให้มีสถานที่จำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกรเกิดขึ้น และกระจายในทุกพื้นที่ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด

ให้ความสำคัญกับการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยสมุนไพร ที่มีการค้นพบและเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ด้วยการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การแปรรูป การผลิต รวมถึงการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถปลูกสมุนไพรชนิดต่าง ๆ อย่างหลากหลายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาในรูปแบบดังกล่าวได้ง่ายในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

การลดความเดือดร้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในสถานการณ์โควิด-19

  • ด้านการศึกษา : เร่งกำหนดมาตรการลดข้อจำกัดด้านการจัดการศึกษา ทั้งด้านระบบออนไลน์ อุปกรณ์การเรียน ที่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และชุมชน ร่วมกันจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาระดับครอบครัว (Home School) และการศึกษาระดับชุมชน (Community School) โดยจัดสรรงบประมาณ (จากเงินกู้) เพื่อจัดจ้างนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ ผู้ปกครองอาสา คนตกงาน ในการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องถิ่นของตัวเองในช่วงทีมีการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ อาจจะมีการกำหนดพื้นที่การเรียนรวมเป็นจุดเล็ก ๆ ในชุมชนกรณีชุมชนที่มีเด็กเรียนร่วมกัน 4-5 คน หรืออาจจะมีระบบสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนให้กับบุตรหลานตัวเองได้
  • ด้านการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ : รัฐบาลควรผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร และการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีข้อสรุปในทุกกรณี รวมทั้งควรชะลอหรือยุติการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพไปพลางก่อนจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย

  • เป็นรากฐานสำคัญที่จะดำเนินการให้ก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยแนวทางสำหรับชุมชนไปปรับใช้ได้ให้เหมาะกับพื้นที่ ซึ่งผ่านประสบการณ์และการถอดบทเรียนจากพื้นที่จริง

  • ชุมชนเร่งดำเนินการจัดทำแผนที่ชุมชน การสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนของตัวเองได้ผ่านการพูดคุย และการเตรียมพร้อมของชุมชน กำหนดจุดพักคอยชุมชน ศูนย์กักตัว วิธีการกักตัวที่บ้าน และการจัดให้มีทีมในชุมชน เช่น ทีมด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ทีมเฝ้าระวังป้องกัน และสื่อสารให้ชุมชนรับรู้เข้าใจในแผนการและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังทั้งชุมชน ขณะเกิดเหตุ 

  • ระดับชุมชน หมู่บ้าน : เมื่อมีกลุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นในชุมชนเร่งขีดกรอบจำกัดวงการแพร่ระบาด และเข้าไปจัดระบบบ้านกักตัวก่อน หากชุมชนมีความพร้อมสามารถจัดตั้งศูนย์กักตัวชุมชนได้ ให้กักตัวกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ หรือส่งศูนย์พักคอยชุมชน และจัดตั้งครัวกลางชุมชนในการดูแลคนกักตัวและอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ไปพร้อมกัน
  • ระดับตำบล : ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในการดูแลอาสาสมัคร ครัวกลาง คัดกรองกลุ่มเสี่ยง เร่งตรวจเชิงรุกตามกรอบพื้นที่เสี่ยง จัดลำดับความสำคัญเพื่อแยกกลุ่มเสี่ยงออกอย่างต่อเนื่อง จัดตั้งศูนย์พักคอยตำบล และโรงพยาบาลสนามตำบล ร่วมกับ รพ.สต. หลังเกิดเหตุ

  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนให้ชุมชนเร่งสำรวจ และจัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบาง คนตกงาน อาชีพ รายได้ของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นอาชีพ สร้างงาน ส่งเสริมการตลาด เชื่อมโยงระบบขนส่งพืชผลทางการเกษตร และสร้างอาชีพทางเลือกให้ประชาชน

ในภาวะภัยพิบัติซ้ำซ้อนเกิดขึ้นพื้นที่ใด การบริหารจัดการต้องใช้แผนการรับมือภัยพิบัติเข้ามาบริหารในภาวะวิกฤตด้วย โดยแยกระบบการบริหารออกจากกัน และใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ดีหากตั้งต้นในตอนนี้ เราอาจกลับฟื้นคืนประเทศได้ และประชาชนจะสามารถตั้งรับ ปรับตัว และอยู่กับสถานการณ์ภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อและทัศนคติของรัฐบาล ที่จะเริ่มต้นในการใช้ชุมชนเป็นฐานหรือยัง?

ไมตรี จงไกรจักร์ – ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

แชร์