ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อตะกอนในป่าชายเลน
Impacts of Climate Change to Coastal Sediment
รองศาสตราจารย์ รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ และรองศาสตราจารย์ กัมปนาท ภักดีกุล
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ความหมายของป่าชายเลน ป่าชายเลน (Mangrove Forest) เป็นระบบนิเวศป่าไม้ที่ทนต่อความเค็มที่มีน้ำท่วมถึงบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตร้อน กึ่งเขตร้อน และเขตอบอุ่นของโลก มีพื้นที่รวมกันประมาณ 14,653,000 เฮกตาร์ (FAO, 2003) ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1.5 ล้านไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562)
ความสำคัญของป่าชายเลน ป่าชายเลนมีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ป่าชายเลนมีอัตราการผลิตผลผลิตปฐมภูมิและธาตุอาหารสูง ทำให้สามารถรองรับห่วงโซ่อาหารได้หลากหลาย เป็นแนวป้องกันคลื่น ลม และน้ำท่วม นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนตะกอน ธาตุอาหาร และมลพิษให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในระบบนิเวศได้ดี เป็นแหล่งผลิตอาหาร เส้นใย เชื้อเพลิง วัสดุในการก่อสร้าง กิจกรรมนันทนาการ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ที่สำคัญหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) (Kauffman et al., 2017)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ย ความชื้น และปริมาณฝนโดยทั่วไปในพื้นที่หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ซึ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นหรือเย็นลงหลายครั้ง แต่ในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1880 เป็นต้นมา สภาพภูมิอากาศของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาวะเรือน (Greenhouse effect) จากการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การขนส่ง อุตสาหกรรม การทำลายป่า (The Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC, 2007) ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำไหลบ่าหน้าดิน ธารน้ำแข็ง การพังทลายของดิน และปริมาณตะกอนเปลี่ยนแปลงไป (Meade et al., 2010) โดยเฉพาะปริมาณตะกอนในแหล่งน้ำ (Lu et al., 2013) ซึ่งยังต้องการข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่ยอมรับกันว่ากิจกรรมมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณตะกอนที่ไหลลงสู่มหาสมุทร (Hassan et al., 2008)
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อป่าชายเลน ปัจจุบันป่าชายเลนกำลังประสบปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
1) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (sea level rise) เป็นผลมาจากการขยายตัวของน้ำทะเล (steric expansion) และการละลายของน้ำแข็งในที่ต่าง ๆ ของโลก ทำให้น้ำทะเลจะหนุนเข้ามาท่วมพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จนเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณแนวชายฝั่ง
2) การรุกล้ำของน้ำทะเลตามแนวชายฝั่ง (salinity intrusion) การที่พื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งหลายแห่งมีความสูงต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจะมีความเค็มเพิ่มขึ้นจากการลุกล้ำของน้ำทะเล ส่งผลให้พืชในพื้นที่ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสม
3) การเกิดคลื่นกัดเซาะตลิ่งและชายหาด (storm surge) การกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) จะทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณตลิ่งที่มีการกัดเซาะเกิดความเสียหายรุนแรงและอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของพื้นที่และของประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยมีรายงานแนวชายฝั่งถูกกัดเซาะใน 23 จังหวัดประมาณ 830 กิโลเมตร (เชิญ ไกรนรา, 2556)
4) ความเป็นกรดของน้ำเพิ่มขึ้น การความกรดของน้ำส่งผลให้พรรณไม้บางชนิดในป่าชายเลนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำให้องค์ประกอบของสังคมเปลี่ยนแปลงไป
5) การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรน้ำ (hydrologic cycle) เช่น ปริมาณน้ำฝน ความถี่ ความแรงของพายุ น้ำไหลบ่าหน้าดิน และความชื้น ทำให้องค์ประกอบของชุมชนพืชเปลี่ยนไปขึ้นอยุ่กับพื้นที่ว่าจะมีความชื้นเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ความรุนแรงของลมพายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ป่าชายเลนเสียหายจากการหักของกิ่งหรือลำต้น หรืออาจทำให้องค์ประกอบของชุมชนพืชในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป
6) การเปลี่ยนแปลงของตะกอน การที่ปริมาณพัดพามาสะสมบริเวณชายฝั่งเปลี่ยนแปลงส่งผลให้องค์ประกอบของพืชพรรณในป่าชายเลนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพืชในป่าชายเลนแต่ละชนิดมีวิวัฒนาการให้ขึ้นบนดินที่มีองค์ประกอบของเนื้อดินแตกต่างกัน
7) การเปลี่ยนแปลงของธาตุอาหาร เนื่องจากผลผลิตของป่าชายเลนจะถูกจำกัดด้วยปริมาณธาตุอาหารที่ถูกพัดพามากับน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงมาในป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไป ถ้าปริมาณน้ำจืดลดลงจะทำให้ปริมาณธาตุอาหารลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ในพื้นที่ป่าชายเลนจะมีความเค็มและความแห้งแล้งมากขึ้น ทำให้มีการคายระเหยมากขึ้นจนทำให้ผลผลิตและพื้นป่าชายเลนลดลงในที่สุด
8) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การลดลงของป่าชายเลนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน โดยเฉพาะชนิดที่พบเฉพาะในพื้นที่ป่าชายเลนเท่านั้น มีแนวโน้มลดจำนวนลงจนมีสภาพใกล้สูญพันธุ์ได้
การศึกษาการสะสมตะกอนในป่าชายเลน จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามรายงานของ IPCC (2007) พบว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณตะกอนที่มาทับถมปริเวณป่าชายเลน ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออุทกวิทยา
ปริมาณน้ำฝนมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีปริมาณลดลงในเขตแห้งแล้งหรือกึ่งแห้งแล้ง (arid and semi-arid zone) แต่ในเขตอบอุ่น (temperate zone) กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าและตะกอนที่เข้ามาสู่ป่าชายเลนที่มีแนวโน้มลดลงในเขตร้อนและกึ่งร้อน (tropical and subtropical zone) (Lu et al., 2013)
2) ปริมาณตะกอนและการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน
ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนและปริมาณตะกอนจะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย (<800 มิลลิเมตรต่อปี) ปริมาณตะกอนจะลดลง 4-61% (Lu et al., 2013) แต่ในเขตที่มีฝนตกชุก (>800 มิลลิเมตรต่อปี) ปริมาณตะกอนจะเพิ่มขึ้น 0.4-11% (Lu et al., 2013) เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัทลายของดินมากขึ้น แต่ปริมาณตะกอนที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ทำให้เกิดการสะสมเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำมากขึ้นทำให้ตะกอนส่วนนี้ไม่สามารถลงมาสู่ป่าชายเลนได้
3) ปริมาณตะกอนที่ขึ้นกับปริมาณน้ำฝนและกิจกรรมมนุษย์
จากการศึกษาในประเทศจีนพบว่า ในเขตกึ่งแห้งแล้งจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่มหาสมุทรลดลง แต่ในเขตชุ่มชื้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้ปริมาณตะกอนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าที่ไหลลงสู่มหาสมุทร แต่หลายพื้นที่ในโลกกลับพบปริมาณตะกอนสะสมลดลงเนื่องจากมีกิจกรรมของมนุษย์มารบกวน เช่น การผันน้ำ หรือการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมมนุษย์ทำให้ปริมาณตะกอนลดลง 59-86% (Lu et al., 2013) ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ป่าชายเลนมากกว่าปริมาณน้ำฝน
4) ปริมาณตะกอนและการเปลี่ยนแปลงน้ำท่าจากกิจกรรมมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนส่งผลต่อปริมาณน้ำและตะกอนในแน่น้ำลำธาร แต่การผันน้ำและการสร้างอ่างเก็บเก็บส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ป่าชายเลนลดลงซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการลดลงของปริมาณตะกอนที่จะมาสะสมในพื้นที่ป่าชายเลน เช่น การใช้น้ำเพื่อการบริโภคมีค่าเฉลี่ย 30 พันล้านลูกบากศ์เมตรต่อปี (ค.ศ. 2001-2007) ทำให้ปริมาณตะกอนลดลง 65% (Lu et al., 2013)
5) ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณตะกอน
การลดลงของปริมาณน้ำจากกิจกรรมมนุษย์เกิดจากการสร้างเขื่อน การดูดทราย การปลูกต้นไม้ ทำให้ปริมาณตะกอนลดจำนวนลง (Chu et al., 2009) 14-41% ซึ่งในประเทศจีน Wang et al. (2007) สรุปว่าการอนุรักษ์ดินทำให้ปริมาณตะกอนลดลง 40% แต่อ่างเก็บน้ำทำให้ปริมาณตะกอนลดลงได้ถึง 70% หรือมากกว่า 100% จากการดูดทราย เป็นต้น
กรณีศึกษาการสะสมตะกอนในป่าชายเลนบ้านขุนสมุทรจีน
การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลเป็นดัชนีที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าระบุว่าสภาพภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีผลต่อความหนาแน่นของน้ำทะเล (Levitus et al., 2001) ที่มีอัตราเพิ่มจาก 1.1 มิลลิเมตรต่อปี (Wadhams and Munk, 2004) เป็น 1.5–2.0 มิลลิเมตรต่อปี (Miller and Douglas, 2004) และมีอัตรเพิ่มสูงกว่า 3.1±0.7 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี ค.ศ. 1993–2003 (IPCC, 2007; Merrifield et al., 2009) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตะกอนซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การทับถมของตะกอน และการตกสะสมในแนวดิ่งซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศป่าชายเลน (Reed, 2002) ซึ่งปกติป่าชายเลนมีความสามารถในการดักจับและยึดตะกอนเพราะสามารถลดพลังงานของคลื่นลงได้ จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการพังทลายของแนวชายฝั่ง การศึกษาปริมาณการสะสมตะกอนบริเวณป่าชายเลนสามารถทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งที่มีการนำมาใช้บริเวณบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ คือ การติดตั้งอุปกรณ์วัดความสูงของพื้นผิว (Surface Elevation Table; SET) ร่วมกับการทำเครื่องหมายแนวราบ (Marker horizon) (ภาพที่ 1) (Cahoon et al., 2000; 2002) เพื่อติดตามการทรุดตัวของผิวดินและสะสมของตะกอนในพื้นที่ป่าชายเลน ดังนี้

ภาพที่ 1 การติดตั้งอุปกรณ์ วัดความสูงของพื้นผิว (Surface Elevation Table; SET) ร่วมกับการทำเครื่องหมายแนวราบ (Marker horizon) (http://www.pwrc.usgs.gov/set/)
1) ติดตั้งอุปกรณ์วัดความสูงของพื้นผิว (Surface Elevation Table; SET) โดยทำการตอกเสา (Rod) ของอุปกรณ์ให้ถึงชั้นดินแข็งที่ไม่มีการยุบตัว
2) บันทึกความสูงของเสา
3) ติดตั้งอุปกรณ์วัดความสูงของพื้นผิวบนเสา พร้อมบันทึกมุมของแขน (Arm) ด้วยเข็มทิศ
4) สอดแท่งวัดความสูงของพื้นผิว (Pin) ลงไปในช่องบนแขน (Arm) ของอุปกรณ์ จนครบ 9 ช่อ
5) วัดความสูงจากด้านบนของแขนจนถึงปลายสุดของแท่งวัดความสูงของพื้นผิว 4-8 ทิศ
6) บันทึกค่าเพื่อใช้เป็นค่าอ้างอิงสำหรับเปรียบเทียบเพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงในครั้งต่อๆไป
7) ทำเครื่องหมายแนวราบ (Marker horizon) โดยใช้เฟลด์สปาร์ (Feldspar) โรยบนพื้นผิวดินขนาด 25 เซ็นติเมตร ´ 25 เซ็นติเมตร จำนวน 4 ด้านรอบอุปกรณ์วัดความสูงของพื้นผิว พร้อมทำเครื่องหมายโดยใช้ท่อพีวีซีสูง 30 เซ็นติเมตร ปักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อติดตามความหนาของตะกอนที่มาตกสะสมบนเครื่องหมายแนวราบในครั้งต่อไป
8) ใช้กระบอกเก็บตัวอย่างดิน (Soil core) กดลงไปบนตำแหน่งที่ทำเครื่องหมาย
9) นำดินออกมาจากกระบอกเก็บตัวอย่างดินโดยไม่ให้กระทบต่อความหนาของดิน
10) ทำการวัดความหนาของการสะสมตะกอนจากบริเวณผิวด้านบนของเฟลด์สปาร์ถึงผิวของตะกอน
11) การหาการเปลี่ยนแปลงความสูงของพื้นผิวทำได้โดยความสูงของพื้นผิว = ความสูงที่วัดได้ครั้งที่ 1 – ความสูงที่วัดได้ครั้งที่ 2
12) การหาอัตราการเปลี่ยนแปลงความสูงของพื้นผิวทำได้โดยการทรุดตัวของดินกรณีไม่มีตะกอนมาเติม = ความสูงของพื้นผิว – ความหนาของการสะสมของตะกอน จากการศึกษาการสะสมตะกอนในป่าชายเลนบ้านขุนสมุทรจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2562 พบว่าแผ่นดินบริเวณบ้านขุนสมุทรจีนมีแนวโน้มทรุดตัวไปประมาณ 16 มิลลิเมตร หรือ 5.3 มิลลิเมตรต่อปี (ภาพที่ 2ก) แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แนวโน้มการทรุดตัวมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากมีปริมาณตะกอนสะสมมากขึ้น (ภาพที่ 2ข) ซึ่งทำให้การทรุดตัวของพื้นที่ในปี พ.ศ. 2562 ลดลงเหลือ 5 มิลลิเมตร ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่พบว่า ชาวบ้านมีความพยายามต่อสู้กับภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 โดยการทำกำแพงป้องกันตลิ่งซึ่งมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ไม้ไผ่ปักเป็นแนวขนานกับแนวชายฝั่งจนถึงการใช้หินทิ้ง และแท่งคอนกรีต เป็นต้น เพื่อใช้ในการสลายพลังคลื่น และดักจับตะกอนร่วมกับการปลูกป่าชายเลน โดยหวังว่าจะลดผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งที่มีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า จากปีที่มีการดำเนินการพบว่า การทรุดตัวลดลง และการสะสมตะกอนในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ภาพที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของผิวหน้าดินบริเวณบ้านขุนสมุทรจีน กรณีไม่มีตะกอนมาเติม (ก) การเปลี่ยนแปลงความสูงของผิวหน้าดิน (ข)
บทส่งท้าย ป่าชายเลนมีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันกำลัง
ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากธรรมชาติและมีอัตราเร่งจากมนุษย์ ส่งผลให้ปริมาณตะกอนในแหล่งน้ำลดลงจากการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา ปริมาณน้ำฝน และกิจกรรมมนุษย์ การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลช่วยให้เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและป่าชายเลน สามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์วัดความสูงของพื้นผิว (Surface Elevation Table; SET) ร่วมกับการทำเครื่องหมายแนวราบ (Marker horizon) ทำให้ทราบว่าแผ่นดินบริเวณบ้านขุนสมุทรจีนมีแนวโน้มทรุดตัวไปประมาณ 16 มิลลิเมตร หรือ 5.3 มิลลิเมตรต่อปี แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แนวโน้มการทรุดตัวมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากมีปริมาณตะกอนสะสมมากขึ้นจากความพยายามต่อสู้กับภัยพิบัติโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2559 มีการทำกำแพงป้องกันตลิ่งซึ่งมีหลายรูปแบบร่วมกับการปลูกป่าชายเลน ทำให้อัตราการทรุดตัวลดลง และการสะสมตะกอนในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2562). พื้นที่ป่าชายเลน. กรุงเทพฯ: กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
เชิญ ไกรนรา. (2556). ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน: กรณีศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ภาคกลางและแนวทางการบรรเทาและแก้ไข. กรุงเทพฯ: สานักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
Cahoon, D. R., Lynch, J. C., Perez, B. C., Segura, B., Holland, R., Stelly, C., et al. (2002). A device for high precision measurement of wetland sediment elevation: II. The rod surface elevation table. Journal of Sedimentary Research, 72(5), 734-739.
Cahoon, D. R., Marin, P. E., Black, B. K., & Lynch, J.C. (2000). A method for measuring vertical accretion, elevation, and compaction of soft, shallow-water sediments. Journal of Sedimentary Research, 70(5), 1250-1253
Chu, Z. X., Zhai, S. K., Lu, X. X., Liu, J. P., Xu, J. X., & Xu, K. H. (2009). A quantitative assessment of human impacts on decrease in sediment flux from major Chinese rivers entering the Pacific Ocean. Geophysical Research Letters, 36, L19603, doi:10.1029/2009GL039513.
FAO. (2003). Status and Trends in Mangrove Area Extent Worldwide. In: Wilkie, M. L., & Fortuna, S. (eds.). Forest Resources Assessment Working Paper No. 63. Rome: Forest Resources Division, FAO.
Hassan, M. A., Church, M. C., Xu, J. X., & Yan, Y. X. (2008). Spatial and temporal variation of sediment yield in the landscape: Example of Huanghe (Yellow River). Geophysical Research Letters, 35, L06401, doi:10.1029/ 2008GL033428.
IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change). (2007). Climate Change: AR4 Synthesis Report. Cambridge: Cambridge University Press.
Kauffman, J. B., Arifanti, V. B., Trejo, H. H., García, M. del C., J., Norfolk, J., Cifuentes, M., et al. (2017). The jumbo carbon footprint of a shrimp: carbon losses from mangrove deforestation. Frontiers in Ecology and the Environment, doi:10.1002/fee.1482.
Levitus, S., Antonov, J. I., Wang, J, Delworth, T. L., Dixon, K. W., & Broccoli, A. J. (2001). Anthropogenic warming of Earth’s climate system. Science, 292, 267-270.
Lu, X. X., Ran, L. S., Liu, S., Jiang, T., Zhang, S. R., & Wang, J. J. (2013). Sediment loads response to climate change: A preliminary study of eight large Chinese rivers. International Journal of Sediment Research, 28(1), 1-14.
Meade, R. H., & Moody, J. A. (2010). Causes for the decline of suspended-sediment discharge in the Mississippi River system, 1940-2007. Hydrological Processes, 24, 35-49.
Merrifield, M. A., Merrifield, S. T., & Mitchum, G. T. (2009), An anomalous recent acceleration of globalsea level rise. Journal of Climate, 22(21), 5772-5781.
Miller, L., & Douglas, B. C. (2004). Mass and volume contributions to twentieth-century global sea level rise. Nature, 428(6981), 406-409.
Qian, W., & Lin, X. (2004). Regional trends in recent temperature indices in China. Climate Research, 27, 119-134.
Reed, D. J. (2002). Sea level rise and coastal marsh sustainability: Geological and ecological factors in the Mississippi delta plain. Geomorphology, 48, 233-243.
Wang, H. J., Yang, Z. S., Saito, Y., Liu, J. P. Sun, X., & Wang, Y. (2007). Stepwise decreases of the Huanghe (Yellow River) sediment load (1950-2005): Impacts of climate change and human activities. Global and Planetary Change, 57(3–4), 331-354.
Zhai, P. M., Chao, Q. C., & Zou, X. K. (2004). Progress in China’s climate change study in the 20th century. Journal of Geographical Sciences, 14(1), 3-11.