เครื่องหมายอัศเจรีย์

นครปฐมกับการจัดการน้ำ : พลิกปูมพลังประชาสังคม

28 พฤศจิกายน 2563

ประเชิญ คนเทศ
ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและภูมิปัญญาภาคประชาชน
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ

ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554  ถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 100 ปี  ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่าถึง 1.44  ล้านล้านบาท 

น้ำท่วมใหญ่เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่  เป็นคำถามใหญ่ 

ในส่วนของรัฐบาลก็พยายามบอกว่า  เป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากพายุโซนร้อนพัดเข้ามายังประเทศไทยติดต่อกันถึง 5 ลูก  ทำให้เกิดฝนตกหนัก  จนเขื่อนไม่สามารถรับน้ำได้อีก  จำเป็นต้องปล่อยน้ำมาตอนล่าง  ทำให้น้ำท่วมอย่างรวดเร็ว

            ในส่วนของนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า  สาเหตุหลักของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  มาจากการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์  และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีความผิดพลาด  เก็บกักน้ำไว้มากเกินไป  เมื่อปริมาณน้ำจากฝนตกหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เกินปริมาณเก็บกัก จำเป็นต้องปล่อยน้ำออก เพื่อป้องกันเขื่อนพัง

ที่สุดก็มีข้อสรุปรวมกันว่า  ทั้งสองสาเหตุเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

            จังหวัดนครปฐม  เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย  โดยในครั้งนั้น ภาคประชาสังคมได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม  จัดตั้งศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมและเปิดศูนย์ข่าวสารน้ำท่วมจังหวัดนครปฐม  ทำหน้าที่ประสานความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัย  ณ  ศูนย์พักพิงแห่งนี้  และประชาชนในเขต  3  อำเภอ  ได้แก่  อำเภอบางเลน  อำเภอนครชัยศรีและอำเภอสามพรานบางส่วน  ทั้งยังให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมในจังหวัดนครปฐมแก่สื่อมวลชนทุกแขนง

            ภาคประชาสังคม  ได้แก่ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม  สภาลุ่มแม่น้ำท่าจีนนครปฐม  และมูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม  กับเครือข่ายต่างๆ  ได้ช่วยกันกู้พื้นที่สำคัญของนครปฐม  ได้แก่  ปฏิบัติการ  “กู้สวนส้มโอ  เกาะทรงคะนอง  สามพราน”  และปฏิบัติการ  “คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้ชาวทุ่งพระพิมลราชา”  ด้วยปฏิบัติการกู้น้ำค้างทุ่ง  600  ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่  250,000  ไร่  ในทุ่งพระพิมลราชา  เพื่อให้ชาวนาลงมือปลูกข้าวให้ทันโครงการรับจำนำข้าว  นโยบายประชานิยมของรัฐบาลขณะนั้น  ทั้งสองประเด็นหลักทำให้สาธารณะทั่วไปยอมการทำงานของภาคประชาสังคมจังหวัดนครปฐมมากยิ่งขึ้นที่สามารถจัดการตนเองได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

            อย่างไรก็ตาม  การเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นมีส่วนทำให้สังคมไทยหันมาสนใจการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐมากขึ้น  รัฐบาลก็พยายามเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศกลับคืนมาให้ได้โดยเร็ว  จึงได้ตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขึ้นมา  โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)  ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำโดยตรง  และรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน  3.5  แสนล้านบาท  เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย  ซึ่งรู้จักกันดีในนาม  “โครงการบริหารจัดการน้ำ  3.5  แสนล้าน

            ทั้งนี้ งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ในส่วนของแผนงาน  A5  การจัดทำทางผันน้ำ (Flood  Diverson  Channel)  รวมมูลค่า  1.53  แสนล้านบาท  โดยคิดเป็นร้อยละ  45  ของมูลค่าโครงการรวมทั้งหมด  โดยโครงการรวมทั้งหมด   โครงการหลักในกลุ่มโครงการนี้ คือ  การก่อสร้างคลองผันน้ำฝั่งตะวันตกจากขาณุวรลักษณ์บุรี  จังหวัดกำแพงเพชร  อำเภอท่าม่วง  จังหวัดกาญจนบุรี  หรือที่ภาคประชาชนเรียกว่า  แม่น้ำสายใหม่  กว้างประมาณ  225  เมตร  ระยะทาง  283  กม.  ผ่านกำแพงเพชร  นครสวรรค์  อุทัยธานี  ชัยนาท  สุพรรณบุรี  และกาญจนบุรี   โดยน้ำทั้งหมดลงสู่แม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง  จังหวัดกาญจนบุรี  และออกสู่ทะเลที่ปากแม่น้ำแม่กลอง  จังหวัดสมุทรสงคราม  ในส่วนแม่น้ำท่าจีนปรับปรุงแม่น้ำท่าจีนและพัฒนาคลองหลักเดิม  เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดีขึ้น  พร้อมปรับปรุงคอลงส่งน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีนให้มีประสิทธิภาพระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนได้เร็วยิ่งขึ้น 

            อย่างไรก็ตาม  หลังจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย  (กบอ.)  จัดทำ    TOR  จัดประกวดราคา  จนกระทั่งประกาศบริษัทที่จะมารับงานในทุกกลุ่มโครงการ  ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่  27  มิถุนายน  2556  ให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  57  วรรค 2  และมาตร  67  วรรค  2  โดนนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง  รัฐบาลโดย กบอ.  จึงวางแผนจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ  แต่รัฐบาลได้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงการจัดการนิทรรศการ  “น้ำ คือ ชีวิต”  ที่ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่  เมื่อวันที่  12  กันยายน  2556  และให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี  ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วการให้ข้อมูลโดยวิธีการดังกล่าวไม่สามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่าง “ทั่วถึง”  ตามคำพิพากษาของศาลปกครองได้

            พลวัตของการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพเสริมหนุนทุกภาคส่วนขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและพลังของความรู้จนเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปใช้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของรัฐ  เริ่มต้นจากโครงการ “คนนครปฐมไม่ไว้ใจฟลัดเวย์”  เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านพบว่า  จังหวัดนครปฐมจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำเกินศักยภาพที่พื้นที่จะรับได้  ผลการขับเคลื่อนครั้งนี้เกิดปฏิณญาสามพราน  และเกิดกลไก  “ศูนย์พระสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม”  สำนักงานสุขภาพแห่งชาติได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม  ขอความอนุเคราะห์ตั้งสำนักงานนี้ในมหาวิทยาลัย  เมื่อโครงการการบริหารจัดการน้ำ  วงเงิน  3.5  แสนล้านบาท ชัดเจนขึ้น  ภาคประชาสังคมนครปฐมจึงพร้อมรับมือด้วยข้อมูลความรู้ทางวิชาการ  โดยประสานความร่วมมือเรียนรู้กับทีมวิศวกรจาก  คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ  วสท. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  และการทำงานร่วมกับสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ที่เกาะติดติดอย่างใกล้ชิด  โดยใช้รายการสถานีประชาชน  รายการเวทีสาธารณะและรู้สู้ภัยพิบัติ  ลงไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน  โดยเลือกโครงการโมดูลเอ 5  การจัดทำทางผันน้ำ  (Flood  Divertion  Chanel)  รวมมูลค่า  1.53  แสนล้านบาท  ภายใต้เวลาที่จำกัด  ทรัพยากรที่จำกัด  จึงตัดสินใจเลือกโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดนครปฐมมากที่สุด  การลงไปทำงานร่วมกับองค์กรดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร  นครสวรรค์  อุทัยธานี  สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  และสมุทรสงคราม สร้างความรู้ความเข้าใจ  พัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเตรียมพร้อมรับมือการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน  และระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง  ซึ่งสรุปคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีการบริหารจัดการน้ำ  วงเงิน  3.5  แสนล้าน  ได้ดังนี้ 

“…จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่  ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา  57  วรรคสอง  และมาตร  67  วรรคสอง  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  กำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง  ตามเจตนารมณ์ของส่วนที่  10  สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน  และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย  ตามเจตนารมณ์ของส่วนที่  12  สิทธิชุมชน  ซึ่งอยู่ในหมวด  3  สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทั้งนี้  ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน  (Module)  คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก…”  27  มิถุนายน  2556

            ในที่สุดศาลปกครองกลางได้พิพากษาและตัดสินให้มีการจัดประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงก่อนที่จะจ้าง ออกแบบและก่อสร้าง  รัฐบาลจึงได้ทุ่มงบประมาณกว่า  184  ล้านบาท  จึงประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ  36  จังหวัด  ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีการจัดเวทีไม่ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเพิ่มขึ้น       แต่ละเวทีมีการกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น   เวทีเป็นเพียง  “พิธีกรรม”  หรือการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าที่จะมุ่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม  โดยแกนนำเครือข่ายภัยพิบัติ  ได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด  พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าในให้กับพี่น้องในพื้นที่อย่างแข็งขันผ่านสื่อมวลชนระดับชาติ  สื่อท้องถิ่น  และการจัดเวทีย่อยต่าง ๆ จนในที่สุดโครงการนี้ต้องถูกระงับไป

            หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย  เมื่อปี พ.ศ.  2554  รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย  (กบอ.)  ได้เสนอ  “แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”  หรือที่รับรู้กันในชื่อ  “โครงการบริหารจัดการน้ำ  3.5  แสนล้านบาท” 

            โครงการนี้ได้ถูกคัดค้านจากนักวิชาการ  เครือข่ายภาคประชาสังคมนครปฐมและประชาชนส่วนใหญ่อย่างกว้างขวางถึงความไม่เหมาะสม  และความไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง

            การขับเคลื่อนดังกล่าวมีผลให้ประชาชนในพื้นที่โครงการโมดูล A5  มีความรู้  ความเข้าใจมากขึ้น  และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ  ทั้งยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายและทางเลือกทางออกที่จะใช้นำเสนอในเวทีรับฟัง  ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในจังหวัดอุทัยธานี  ชัยนาท  กำแพงเพชร  สุพรรณบุรี  ราชบุรี  สมุทรสงคราม  กาญจนบุรี  จึงเกิดปรากฏการณ์ประชาชนตื่นตัวออกมาร่วมเวทีมากมาย  สะท้อนความคิดเห็นให้กับภาครัฐบาล  อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วผลจากการขับเคลื่อน  ได้เกิด  “เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำ  3.5  แสนล้านของรัฐ”  ประสานงานและทำงานกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน.

เชื่อมเครือข่ายห้วยตั้ง   ลำพูน

ร่วมรับฟังการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดคดีน้ำ 3.5 แสนล้าน

ประชุมเครือข่ายภาคปชช. ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ณ จ.อุทัยธานี

แชร์


  • ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและภูมิปัญญาภาคประชาชน ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ

  • ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและภูมิปัญญาภาคประชาชน ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ