เครื่องหมายอัศเจรีย์

ระฆังภูมิอากาศประเทศไทยเปลี่ยน เราจะปรับตัวกันอย่างไร ?

รศ. ดร. เสรี ศุภราทิตย์
ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ม.รังสิต
คณะกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ปัจจุบัน มีหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า การเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้น และกำลังเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ ภัยคุกคามดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่สำคัญ และท้าทายต่อโลกในอนาคต จากรายงานการประเมินฉบับที่ 5 (IPCC, 2014) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2557 โดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Panel on Climate Change, IPCC) ซึ่งตอกย้ำข้อมูลวัดที่ชัดเจนว่าโลกกำลังร้อนขึ้นด้วยอัตราเร่งที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และดูเหมือนว่ามนุษย์จะเป็นตัวการที่สำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ที่รุนแรงตามภูมิภาคต่างๆ จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคต ดังนั้น New normal สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูิอากาศ กำลังเกิดขึ้นเหมือนกับ ระฆังภูมิอากาศโลกกำลังเคลื่อนไปสู่ความปกติใหม่ (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ความปกติใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รูปที่ 2 องค์ประกอบของการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนปัจจุบัน ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ (Climate Change and Disaster Center, CCDC) (เดิมมีชื่อว่าศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540) โดย รศ. ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้เขียนนำ (Lead author) ในคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะทำงานชุดที่ 2 (IPCC WG2) ในการเขียน และประเมินรายงาน SREX (Special Report on Managing the Risks of Extreme Events and Disaster to Advance Climate Change Adaptation) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา รวมทั้งรายงานการประเมินฉบับที่ 6 (IPCC AR6) ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2565

CCDC เล็งเห็นถึงความเปราะบาง และความล่อแหลมของสังคมไทย ที่อาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง ดังเช่นเหตุการณ์หลายๆครั้งที่ผ่านมาโดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หลายพื้นที่ในปลายปี พ.ศ. 2553 และปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งเหตุการณ์ภัยแล้งในปี 2558-2559 ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ประกาศตัวว่าจะเป็น “ ครัวของโลก ” ซึ่งคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เพราะเราใช้น้ำมาก ใช้พื้นที่มาก และ ใช้แรงงานมาก ดังนั้นการวิเคราะห์ประเมินสภาพอากาศที่รุนแรง (น้ำท่วม ภัยแล้ง) จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเน้นไปที่การจัดการความเสี่ยง ตามกรอบการทำงานเซ็นได (Sendai Framework of Action) ที่นาๆประเทศได้ทำความตกลงกัน และได้รับการรับรองโดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2030 การจัดการความเสี่ยงประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก (ดูรูปที่ 2) ได้แก่ 1) ภัยคุกคาม (Hazard) 2) ความเปราะบาง (Vulnerability) และ 3) ความล่อแหลม (Exposure) โดยผลกระทบของภัยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้ง 3 ซึ่งถ้าสามารถจัดการเชิงรุก ก็สามารถจะลดความรุนแรง และความเสียหายลงได้ ในทางตรงข้าม ถ้าจัดการเชิงตั้งรับ ก็จะทำให้ภัยขยายขอบเขตมากขึ้นได้

ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีการพัฒนา และปรับปรุงก้าวหน้าโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ตั้งแต่รายงานฉบับที่ 4 (AR4,2007) เป็นต้นมา กล่าวคือ มีความชัดเจน และเชื่อมั่นในความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม และภัยแล้งมากขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งๆที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการคาดการณ์โดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ หลายพื้นที่บนโลกดูเหมือนว่าอาจจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21

สหภาพยุโรปโดย Vogt el al. (2018) ได้วิเคราะห์ และประเมินความรุนแรงของภัยแล้งทั่วโลก โดยใช้ดัชนี SPEI-12 ทั้นในอดีต (1951-1980) ปัจจุบัน (1981-2010) และอนาคต (2071-2099) และพบว่าความรุนแรงของภัยแล้งในหลายพื้นที่ช่วงปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต รวมทั้งประเทศไทย (รูปที่ 3a และ 3b) สำหรับการคาดการณ์ในอนาคตแบ่งเป็น 2 กรณีศึกษาตามรายงาน AR5 (Assessment Report 5, 2014) กล่าวคือ RCP4.5 และ RCP8.5 โดยภาพรวมพบว่าสถานการณ์ รอบโลกจะมีความรุนแรงของภัยแล้งเพิ่มขึ้นในหลายๆพื้นที่ (รูปที่ 3c และ 3d)

รูปที่ 3 การเปลี่ยนแปลงดัชนี SPEI12 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

สำหรับประเทศไทย CCDC ได้ทำการศึกษาดัชนีชี้วัดเหตุการณ์น้ำท่วม และภัยแล้ง ประเทศไทยย้อนหลังไปกว่า 100 ปี โดยเลือกใช้ดัชนี SPEI (Standardised Precipitation-Evapotranspiration Index, WMO,2016) เนื่องจากดัชนีดังกล่าวได้มีการประยุกต์ใช้งานทั่วโลก ในการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นดัชนีชี้วัดความต่างระหว่างปริมาณฝนกับปริมาณน้ำที่ระเหย ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีภัยแล้งรายฤดูกาล (SPEI-3) และ Nino3.4 ในภาพรวม และแบ่งเป็นภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยรูปที่ 4 แสดงการกระจายของ ดัชนีภัยแล้ง (น้ำท่วม) ระดับเล็กน้อย ขึ้นไป (-0.5 > SPEI-3 > 0.5) กับ (-0.5 > รูปที่ 3 การเปลี่ยนแปลงดัชนี SPEI12 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ Nino3.4 > 0.5) และ การกระจายของดัชนีภัยแล้ง (น้ำท่วม) ระดับ รุนแรงขึ้นไป (-1 > SPEI-3 > 1) กับ (-1 > Nino3.4 > 1) จากรูปที่ 4 เราพบว่าภัยแล้ง และน้ำท่วมระดับเล็กน้อย ขึ้นไปมักเกิดขึ้นในปีที่เกิดปรากฏการณ์ El Nino และ La Nina ตามลำดับ กล่าวคือ ข้อมูลในรอบเกือบร้อยปี ในภาพรวมทั่วประเทศมีภัยแล้ง และน้ำท่วมใน ระดับเล็ก น้อยขึ้นไปประมาณ 9.9 % และ 11 % ตามลำดับ ในขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น ประมาณ (11.5-12.8%) และ (12.1-13.5%) ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ แสดงให้เห็นความชัดเจนของการกระจายตัวในภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์ภัยแล้ง และน้ำท่วมในระดับเล็กน้อยเกิดขึ้นอีก ประมาณ 3-6.3% และ 4-6.5% ในปีที่ไม่ได้เกิดปรากฎการณ์ El Nino และ La Nina ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัดส่วน ประมาณครึ่งหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์ภัยแล้ง และน้ำท่วมในระดับรุนแรงขึ้นไปมีการกระจายตัวโดยพบว่า ภาพรวมทั่วประเทศ มีภัยแล้ง และน้ำท่วมในระดับรุนแรงขึ้นไปประมาณ 2.3 % และ 1.4 % ตามลำดับ ในขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ (2.5-4.2%) และ (2.2-3.4%) ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า ภัยแล้ง และน้ำท่วมในระดับรุนแรงสูงสุด มักจะเกิดในปีเดียวกันกับปรากฏการณ์ EL Nino และ La Nina เช่นกัน ดังแสดงตัวอย่างในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งภัยแล้ง และน้ำท่วมที่มีความเข้มสูงสุด เกิดในเดือน กรกฎาคม 2540 และ เดือนสิงหาคม 2554 ตามลำดับ (ดูรูปที่ 5) ดังนั้นระฆังภูมิอากาศประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงแล้ว เราจึงต้องปรับตัวให้ทัน เราจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ?

รูปที่ 4 ความถี่ภัยแล้งสามช่วงปีในอดีตจนปัจจุบัน
(1901-1949, 1950-1988, 1989-2018)
รูปที่ 5 ตัวอย่างเหตุการณ์ภัยแล้ง (เดือนกรกฎาคม 2540) และ
น้ำท่วมครั้งรุนแรง (เดือนสิงหาคม 2554) ในภาคกลาง

เอกสารอ้างอิง

IPCC (2014). Summary for policymakers. In: Climate Change 2014: Impacts, Adaptation, and Vulnerability. Part A: Global and Sectoral Aspects. Contribution of Working Group II to the Fifth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [Field, C.B., V.R. Barros, D.J. Dokken, K.J. Mach, M.D. Mastrandrea, T.E. Bilir, M. Chatterjee, K.L. Ebi, Y.O. Estrada, R.C. Genova, B. Girma, E.S. Kissel, A.N. Levy, S. MacCracken, P.R. Mastrandrea, and L.L. White (eds.)]. Cambridge University Press, Cambridge, United Kingdom and New York, NY, USA, pp. 1-32.

Vogt, J.V., Naumann, G., Masante, D., Spinoni, J., Cammalleri, C., Erian, W., Pischke, F., Pulwarty, R., Barbosa, P. (2018), Drought Risk Assessment. A conceptual Framework. EUR 29464 EN, Publications Office of the European Union, Luxembourg, ISBN 978-92-79-97469-4, doi:10.2760/057223, JRC113937

WMO (2016) Handbook of Drought Indicators and Indices

แชร์