เครื่องหมายอัศเจรีย์

อุดช่องว่าง ลดผลกระทบน้ำท่วมใต้

32 อำเภอ 193 ตำบล 1,034 หมู่บ้าน และบ้านเรือน 66,326 ครัวเรือน คือภาพรวมความเสียหายในพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จากฝนที่ตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่  6  วันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่ระบุว่า ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย อาจส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเกิดฝนตกหนัก มากกว่าข้อมูลรายงานสภาพภูมิอากาศของช่วงฤดูมรสุมภาคใต้ ราวเดือน พ.ย.–ม.ค. นี่ยังอาจเป็นข้อมูลอย่างดี สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

ฐสิฐญ์บำเพ็ญ ปลัดอำเภอเมือง จ.ยะลา ยอมรับว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้มีการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านทราบ ก่อนมวลน้ำมา แต่อาจเพราะสถานการณ์โควิด–19 ที่ทำให้การประชาสัมพันธ์อาจไม่ครอบคลุม รวมถึงมวลน้ำมาไวกว่าที่คาดการณ์ ด้วยฝนตกอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเขื่อนบางลางมีการปล่อยน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ล่าสุดสถานการณ์น้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากช่องว่างที่ทำให้ความเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง ขณะที่อุทกภัยครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า แม้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ แต่การเตือนภัยประเทศไทยยังมีช่องว่าง เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรับข้อมูลจากกรุมอุตุนิยมวิทยามาประเมินว่า พื้นที่ไหนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่เชิงเขา หรือแม้แต่พื้นที่ไหนปลอดภัย โดยควรจะเป็นการประเมิน ทั้งในระยะยาวล่วงหน้า 30 วัน และระยะสั้น 3-7 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมความพร้อม ลดความเสียหายทางทรัพย์สินและการเสียชีวิตได้  พร้อมบอกอีกว่า ปีนี้ภาคใต้จะต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏรณ์การลานีญาจะยาวจนถึงเดือนมีนาคม

อุทกภัยครั้งนี้ ยังไม่ใช่มรสุมที่รุนแรงที่สุด

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2532 พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีผู้เสียชีวิต 446  คน สูญหายกว่า 400 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เรือประมงกว่า 500 ลำ จมลงสู่ใต้ท้องทะเล

เดือนธันวาคม ปี 2551 พายุโซนร้อน “นูล” ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรกว่า 9 แสนไร่ เสียหาย มีน้ำท่วมขังเกินกว่า 15 วัน

ขณะที่พายุดีเปรสชั่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 72 ราย ประชาชนกว่าล้านคนต้องเดือดร้อน  

และไม่นานนี้ จากอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” เมื่อเดือนมกราคม ปี 2562 ที่ส่งผลให้ประชาชนกว่า 2 แสน ครัวเรือน ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้รับผลกระทบ

(ที่มา : คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ National Hydroinformatics Data Center)

แชร์