จับตานโยบายโลกร้อน ‘โจ ไบเดน’ หลังสาบานตน รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 พาประเทศกลับสู่ ‘ความตกลงปารีส’ ลดก๊าซเรือนกระจก
เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์โลก เพราะในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จะมีพิธีสาบานตนของ ‘โจ ไบเดน’ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 20 ม.ค. 2564 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ภายใต้แนวคิด “American United” ความเป็นหนึ่งเดียวของชาวอเมริกัน
พิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ต้องลดขนาดการจัดงานลง และใช้วิธีการถ่ายทอดสด พร้อมทั้งให้ผู้ร่วมงานสวมหน้ากากอนามัย ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
‘โจ ไบเดน’ จากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ในช่วง พ.ย. 2563 กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปี ที่ประธานาธิบดีที่พ้นจากตำแหน่งจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ ตามที่ทรัมป์ ระบุผ่านทวิตเตอร์เมื่อต้น ม.ค. 2564
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ระบุตอนหนึ่งในการกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐเดลาแวร์ ก่อนเดินทางมาในพิธีสาบานตนว่า “ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเห็นทรัมป์ปฏิเสธแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงจนมีผู้เสียชีวิต”
เป็นเหตุผลหลักและดูเหมือนว่า นโยบายต่าง ๆ ของโจ ไบเดน จะเข้ามาแก้ปัญหานโยบายที่ผิดพลาดในอดีต ของทรัมป์ หนึ่งในนั้น คือ “การถอนตัวจากความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือความตกลงปารีส ที่ประเทศทั่วโลกตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก
‘โจ ไบเดน’ ประกาศนโยบายว่า ทันทีที่เริ่มงานในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ จะนำสหรัฐฯ เข้าสู่ความตกลงปารีสทันที

ธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้กับ DXC Online ว่า โจ ไบเดน สามารถนำพาสหรัฐฯ เข้าร่วมในความตกลงปารีสได้เลย โดยไม่ต้องรอมติของวุฒิสภา เพราะความตกลงนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นเพียงการแจ้งความจำนงหรือกระบวนการเข้าร่วมเท่านั้น
ทั้งนี้ นโยบายลดสภาวะโลกร้อนฝังอยู่ในนโยบายการต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยน่ากังวลในแง่การดำเนินงาน เพราะสหรัฐฯ มีรูปแบบการปกครองแบบมลรัฐ และในเวลานี้หลายรัฐมีความก้าวหน้าไปมากกว่านโยบายภาพรวมของประเทศ
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า หาก โจ ไบเดน เอาด้วยกับนโยบายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า จะถือเป็นความหวัง โดยความหมายในที่นี้ คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับมีเท่ากัน จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เหมือนดังที่สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ทำได้ ซึ่งจะช่วยลดการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้ 2.3-2.7 องศาเซลเซียส
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ผอ.กรีนพีซฯ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีการพูดถึงนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 แต่ที่กำลังทำในขณะนี้ คือ มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMA) โดยปี พ.ศ. 2563 กำหนดต้องลดให้ได้ร้อยละ 7-20 จาก 320 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และหากได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ อาจลดได้ร้อยละ 25 จาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
“ประเทศไทยต้องขยับตนเอง ในด้านหนึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศลงได้ แต่อีกด้านจะพบว่าการลดของประเทศไทยนั้น ไม่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ หรือทำให้ชุมชนลุกขึ้นมามีศักยภาพรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ ฉะนั้นกลไกของรัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีแผนรับมือระดับพื้นที่ เช่น ภัยพิบัติ พลังงานหมุนเวียน แทนที่การกำหนดนโยบายจากข้างบนมาข้างล่างอย่างเดียว”
ธารา ยังคาดการณ์ว่า ถึงตอนนั้นประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากไม่แก้ไข ก็อาจเข้าใกล้สถานการณ์ภัยพิบัติได้ง่ายขึ้น แต่หากลงมือทำอาจจะสามารถป้องกันได้
ทั้งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบอุทกภัย 67 ครั้ง และเฉลี่ยสร้างความเสียหายปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น หากไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้น ความตกลงปารีสจึงมีมติเห็นชอบให้แต่ละประเทศแสดงเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจก ปรากฎว่า เมื่อรวมแล้วอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
****************
หลังจากวันนี้นโยบายลดสภาวะโลกร้อนในเวทีโลกจะได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง ทันทีที่ ‘โจ ไบเดน’ นำพาสหรัฐฯ เข้าร่วมความตกลงปารีส ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีผลต่อประเทศไทย