เครื่องหมายอัศเจรีย์

ราชสาส์น ‘หยุดเผา’ โมเดลลด PM2.5

“ข้าวหอมมะลิของที่นี่ขึ้นชื่อระดับประเทศ เมล็ดขาวสวย ”

หนึ่งในคำบอกเล่าจาก เกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา การันตีว่านี่คือพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบัน อ.ราชสาส์น มีพื้นที่นาประมาณ 3 หมื่นไร่ ชาวบ้านประกอบอาชีพทำนากว่า 1,200 ครัวเรือน ปฎิเสธไม่ได้ว่าเพื่อความคุ้มค่ากับต้นทุน ค่าเช่านาที่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน ในอดีตชาวนาที่นี่จึงเลือกวิธีกำจัดตอซังด้วยการเผา เพราะใช้เวลาเร็วและลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้ปลูกข้าวได้ 2-3 รอบต่อปี

หากปัจจุบันการเผาที่ดูเหมือนจะกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวนามาเนิ่นนาน ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมเมืองที่เกิดการขยายตัว ด้วยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง

‘ราชสาส์นโมเดล’ จึงเกิดขึ้น ภายใต้โครงการไม่เผานา เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อ.ราชสาส์น

“เมื่อปี พ.ศ.2563 เราพบปัญหาการเผาที่นาใน อ.ราชสาส์น อย่างมาก”

เกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอราชสาส์น ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการฯ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการตีแผ่ปัญหาการเผาที่นาในพื้นที่

เกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา (คนซ้าย)

แล้วทำไมชาวนาต้องเผา? เขาอธิบายว่า ชาวนาต้องเช่าที่นาเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่/ปี และที่นาในอำเภอราชสาส์นส่วนใหญ่มีแหล่งน้ำเข้าถึง ทำให้สามารถทำนาได้ 3 รอบ/ปี ฉะนั้นเพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมดินสั้นที่สุด วิธีการเดียว คือ ต้องเผา!

นอกจากนี้ชาวนายังมีความรู้ความเข้าใจว่า การเผาส่งผลดีต่อการกำจัดวัชพืชและข้าวด้อยคุณภาพ (ข้าวดีด) ทำให้หยุดเผายาก แม้จะทราบดีว่า ให้ผลดี แต่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล 4-5 ปี และการเผานั้นยังช่วยลดต้นทุน เหลือเงินเก็บ ทำให้เปลี่ยนแปลงวิธียาก

นายอำเภอราชสาส์น เล็งเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายกับชาวนาเผาที่นาไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจใหม่ จึงริเริ่มโครงการไม่เผานา เพื่อลดฝุ่น PM2.5 อ.ราชสาส์น โดยเปิดโอกาสให้ชาวนากว่า 1,200 ครัวเรือน เข้าร่วมลงนามสัตยาบันว่าจะหยุดเผา ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 600 ครัวเรือน

มีแนวทาง คือ ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจการทำนาวิถีใหม่ โดยไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วหันมาใช้วิธีไถกลบแทน ต้องปล่อยน้ำเข้ามาในนา เพื่อหมักตอซัง ก่อนใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย และใช้กลไกการจัดการชุมชนเข้ามาสนับสนุน โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่สอดส่องดูแล ตักเตือน ห้ามปราม หากพบมีการกระทำความผิด ส่วนการจับกุมจะเป็นวิธีสุดท้าย

เราคาดหวังว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป โดยพยายามหาแรงจูงใจว่า หากเข้ามาร่วมโครงการฯ จะดีกว่าอย่างไร”


เกรียงไกร กล่าว

เขายังกล่าวว่า ปัจจุบันชาวนามีความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติฝุ่น PM2.5 มากขึ้น เพราะกำลังเป็นกระแสสังคม หลายพื้นที่มีค่าฝุ่นน่าตกใจ กระแสสังคมจึงกดดันกับภาครัฐในการจัดการ แต่ในข้อเท็จจริงเราไม่สามารถจัดการโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวได้ แต่ต้องทำให้ชาวนามีแต้มต่อของการไม่เผานา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องคิดในระยะต่อไป 

ทั้งนี้ วันที่ 3 ก.พ. 2564 โครงการฯ จะเริ่มคิกออฟ โดยชาวนากว่า 600 ครัวเรือน จะเข้าร่วมอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจและชมการสาธิตจากวิทยากรผู้มีความรู้ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา

หากประสบความสำเร็จ ‘ราชสาส์น’ จะกลายเป็นอำเภอต้นแบบของประเทศที่ส่งเสริมให้ ‘หยุดเผา’

แชร์