เครื่องหมายอัศเจรีย์

น้ำกร่อยดื่มได้ ด้วยกระบวนการ RO

นวัตกรรมขับเคลื่อน ระบบ RO แก้ปัญหา ‘น้ำประปากร่อย’ เป็นน้ำจืด เล็งต่อยอดใช้จริงในชุมชน

‘น้ำประปากร่อย’ ที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็ม ได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภคที่ดื่มน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ไม่มีระบบการกรองน้ำได้มาตรฐาน

จากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการขาดแคลนน้ำจืดในฤดูแล้ง คณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี จึงคิดค้นพัฒนา “เทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดด้วยระบบ Reverse Osmosis (RO)”  โดยเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยของ ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560

DXC Online มีโอกาสไปเยือนอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด ซึ่งภายในถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ห้องหลัก คือ ห้องผลิตและห้องบรรจุภัณฑ์ ขณะนั้นมีนิสิตจำนวนหนึ่งกำลังฝึกปฏิบัติในชุดคลุมสวมกันเปื้อน ด้านหน้ามีขวดน้ำดื่มจากการผลิตตั้งโชว์อยู่

อ.สราวุธ ศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย จุดประสงค์คือเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งภายใน จ.จันทบุรี ซึ่งการผลิตน้ำจืดสะอาดที่สามารถดื่มได้นั้น จะต้องนำน้ำเค็มเข้าสู่กระบวนการ RO ถึง 2 ครั้ง จากนั้นให้ฆ่าเชื้อด้วยยูวี

“กระบวนการต้องเอาเกลือออกจากน้ำ ซึ่งอาจเป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ให้เหลือเฉพาะน้ำจืด”

ปัจจุบัน คณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี สามารถผลิตน้ำดื่มจากน้ำเค็มและน้ำกร่อยได้ 400 ลิตร/ชั่วโมง มีต้นทุนการผลิตเฉพาะค่าน้ำ 7 สตางค์/ลิตร และเมื่อบรรจุขวดแล้วมีต้นทุน 2 บาท/ขวด ส่วนน้ำเค็มที่เหลือทิ้งจากกระบวนการ และมีความเข้มข้นสูง จะไม่ถูกปล่อยกลับคืนธรรมชาติ แต่จะถูกนำไปใช้เลี้ยงสาหร่ายและสัตว์น้ำ รวมถึงหญ้าทะเล เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

อ.สราวุธ ยังบอกว่า ปัจจุบันน้ำที่ได้จากการกรองใช้เพื่ออุปโภคบริโภคภายในองค์กรและการศึกษาเท่านั้น แต่อนาคตเชื่อว่า จะได้รับการต่อยอดใช้ในชุมชนจริง ซึ่งที่ผ่านมามีหลายชุมชนให้ความสนใจ ติดต่อสอบถามมาบ้างแล้ว เพียงแต่ต้องหาผู้ร่วมลงทุน และพัฒนาให้เทคโนโลยีนี้มีต้นทุนต่ำกว่าเดิม

แชร์