“ตอนนี้เราตั้งเป้าไว้ว่าจะลดลงครึ่งนึง แต่ก็เป็นไปได้ค่อนข้างยาก บอกได้เลยถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดจากปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่เกิดจากหลาย ๆ ปัญหารวม ๆ กัน”
นี่คือหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จากการแถลงผล “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โครงการวิจัยนี้เป็นการสำรวจงานวิจัย 1,000 กรณีศึกษา ระหว่างปี 2559-2563 โดยเน้นกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 30% พบว่า สาเหตุหลักเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ก่อนการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการชนตัดหน้า และกลุ่มวัยรุ่นประสบอุบัติเหตุมากที่สุด
โดยปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. ปัจจัยด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่า
* ร้อยละ 53 มีสาเหตุเกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
* ร้อยละ 41 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์
* ร้อยละ 4 สาเหตุจากสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม
* ร้อยละ 2 สาเหตุอื่น ๆ
และหากจำแนกตามกลุ่มอุบัติเหตุ ที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พบว่า
* ร้อยละ 49 เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure)
* ร้อยละ 32 เกิดจากผู้ขับขี่ตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure)
* ร้อยละ 13 เกิดจากผู้ขับขี่ควบคุมรถผิดพลาด (Reaction Failure)
ขณะที่การจำแนกตามกลุ่มอุบัติเหตุ ที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถยนต์ พบว่า
* ร้อยละ 60 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure)
* ร้อยละ 34 เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure)
2. ปัจจัยด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่า
* ร้อยละ 48 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ได้หลบหรือหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Colision Avoidance) ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปกติ ไม่ได้ง่วงหรือเมาสุรา โดยขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 20-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
* ร้อยละ 41 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ อุบัติเหตุที่เกิดกับผู้มีใบอนุญาตขับขี่กว่าครึ่ง เป็นการชนที่ไม่ได้หลบหลีกหรือเบรกแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะความผิดพลาดจากการใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือเพื่อหยุดรถ

3. ปัจจัยด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในรถจักรยานยนต์ สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ การชนตัดหน้า จำแนกเป็น 2 กรณี คือ
* ร้อยละ 80 เป็นการชนกับรถยนต์ที่เลี้ยวตัดหน้า
* ร้อยละ 66 เป็นการชนกับท้ายรถยนต์คันอื่น
สำหรับอุบัติเหตุชนท้ายที่มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดในเวลากลางคืน มีสัดส่วนของอุบัติเหตุที่ชนท้ายรถบรรทุกมากกว่าในเวลากลางวัน และในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง และหากเกิดเหตุในเวลากลางคืนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 40 เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากไม่สวมใส่หมวกนิรภัย
4. ปัจจัยด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม
สภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยพบว่า อุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูงมักเกิดในเขตชานเมืองและชนบท ส่วนใหญ่เป็นถนนสายรอง โดยร้อยละ 24 เกิดบนทางร่วมทางแยก ส่วนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดบนถนนขนาด 4 ช่องจราจร มักเกิดขึ้นบนไหล่ทาง ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยหากใช้ในการสัญจร ขณะที่ถนนขนาด 6-8 ช่องจราจร สัดส่วนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์จะเกิดในช่องกลับรถมากขึ้น
รศ.ดร.กัณวีร์ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุด้านถนนและสิ่งแวดล้อมสูงถึง ร้อยละ 40 เนื่องจากการออกแบบสภาพถนนของเมืองไทย ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการใช้รถจักรยานยนต์ แม้จะออกแบบเหมือนต่างประเทศจริง แต่ในประเทศอื่น ๆ แทบจะไม่มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นทางหลักในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ดร.กัณวีร์ ยังได้เสนอแนะการแก้ปัญหาเรื่องรถจักรยานยนต์ โดยมองว่า ควรทบทวนหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ ให้มุ่งเน้นทักษะ ทั้งด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ, การตัดสินใจและการควบคุมรถเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง โดยพยายามทำให้ทักษะเหล่านี้เผยแพร่ไปยังผู้อบรมขับขี่ปลอดภัยทั่วไป
นอกจากนี้ ยังควรแยกการอบรมและข้อสอบ ระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับขี่รถยนต์ เนื่องจากต้องใช้ทักษะทั้งการขับขี่ รวมถึงการตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ต่างกัน โดยทบทวนขั้นตอนการทดสอบภาคปฏิบัติให้เสมือนจริง ร่วมกับการขับขี่รถประเภทอื่น ๆ ในท้องถนน
