ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุถึง ปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมข้อเสนอต่อนโยบายพรรคการเมืองว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ สร้างการรับรู้ความเข้าใจวิกฤตมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาไม่ใช่แค่จากชาวบ้าน แต่มีจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย นโยบายกระจายอำนาจในการแก้ปัญหา PM2.5 ให้สอดคล้องบริบทท้องถิ่น
ต้องเปลี่ยนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สั่งการแบบบนลงล่าง ให้เป็นพื้นที่เป็นตัวตั้ง และให้ชุมชนเป็นแกนหลัก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน ภาคธุรกิจ วิชาการ ประชาสังคมร่วมสนับสนุน
ด้านนางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) กล่าววว่า หลังนโยบายทวงคืนผืนป่า ปี 2557 ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นอาชญากรร้ายแรง ที่ถูกจำคุก ดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่ากว่า 2 หมื่นคดี โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ทำการของกลุ่มชาติพันธุ์
ขณะที่รัฐเตรียมจะขอคืนพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีก 22 แห่ง จำนวน 24 ล้านไร่ แต่ก็ยังไม่มีการสำรวจพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับรู้ขอบเขตของพื้นที่ทำกินได้ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาและถูกดำเนินคดี ดังนั้นจึงขอเสนอแนะให้พรรคการเมืองผลักดันแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเพิ่มข้อบัญญัติสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน รวมถึงแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งสำคัญคือการยุติอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ
ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า วิศกรรมทรัพยากรน้ำ ม.เกษตร มองว่า ความท้าทายการบริหารจัดการน้ำ … ในรัฐบาลชุดต่อไปสำคัญ

“นักการเมืองต้องมอง“ปัญหาน้ำ”เป็นเรื่องท้าทายในการพัฒนาประเทศ เพราะที่ผ่านมาเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเช่นรัฐมีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่ป่าแต่กลับไปสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณด้านน้ำ”
พร้อมเสนอแนวคิดนโยบายการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำต่อตัวแทนพรรคการเมือง ว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งหมด 13 ฉบับ แม้ว่าช่วงแรกของการขับเคลื่อนแผนพัฒน์ฯจะประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันกลับสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านน้ำ เช่น การแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำระหว่างเกษตรกรในและนอกพื้นที่เขตชลประทาน ,การแก้ปัญหาน้ำท่วมระหว่างพื้นที่นอกคันกับพื้นที่ในคันกั้นน้ำ หรือแม้แต่การใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์สร้างเขื่อน ดังนั้นเพื่อลดช่องว่างและจัดการกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ควรปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณด้านน้ำ โดยการนำตัวชี้วัดและประสิทธิผลมาใช้ในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณและประเมินโครงการต่างๆ และใช้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ หรือ Check and Balance ในการตรวจสอบระหว่างหน่วยงาน สทนช. สภาพัฒน์ฯ สนง.กรมบัญชีกลาง
ประเด็นแม่น้ำโขง นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศ และวิถีชุมชน ประเด็นปัญหาหลัด คือเรื่องเขื่อน ที่ทำให้น้ำในลำน้ำโขง ขึ้นลงผิดฤดูกาล ที่ผ่านมาส่งเสียงถึงรัฐบาล มีการตั้งคณะทำงาน แต่ข้อเสนอสำคัญยังไปไม่ถึง “สิ่งที่อยากเสนอเพื่อการแก้ปัญหาคือยุติการตั้งเขื่อนใหม่ ทบทวนและชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำโขงทั้งหมด และศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนให้ชัดเจน”
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นด้านพลังงาน มองว่าเร่งดำเนินการใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปี 2024 ซึ่งอาจจะไม่ต้องรอถึง 80 ปี ซึ่งการแก้ปัญหาทั้งหมดจะต้องมีการวางแผนเป้าหมายด้านพลังงานให้ครบทุกมิติและตรงจุด ไม่เช่นนั้นในอนาคตประเทศไทยอาจถูกกีดกันทางการค้าของโลก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยถูกประเมินให้อยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดในด้านของการลดโลกร้อน เช่น นโยบายคาร์บอนเครดิต ที่รัฐไม่ได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบ แต่กลับมีสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งที่จริงแล้วไม่สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ แต่กลับเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น รวมถึงไม่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการใช้น้ำมันฟอสซิล
ส่วนประเด็นมลภาวะอุตสาหกรรม นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศฯ มองว่า ปัญหามลภาวะอุตสาหกรรม เกิดจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จนทำให้เกิดการละเลยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งการปนเปื้อนมลพิษในอากาศ น้ำ และพื้นที่การเกษตร โดยที่ประชาชนไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าพวกเขาต้องเจอกับมลพิษอะไรบ้าง และปริมาณเท่าไหร่ ดังนั้นรัฐต้องออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการให้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ บูรณาการเรื่องนี้ให้สมดุลและผนวกเข้ากับการจัดทำนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การดูแลด้านสุขภาพ และการศึกษาของประชาชน ควบคุมการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี และกำกับดูแลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ดร. กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All มองว่า แผนลดก๊าซเรือนกระจกของไทย เป็นการตั้งไว้ฉาบฉวย ไม่ได้เอาจริงเอาจัง ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ลดลงร้อยละ 40 จากปี 2019 โดยให้บรรลุคาร์บอนเป็นกลางในปี 2040 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิในปี 2050 ลด ละ เลิก การใช้พลังงานฟอสซิล และแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน เร่งปลดระวางถ่านหินภายในปี 2580 ป้องกันการฟอกเขียว ด้วยการห้ามมิให้ภาคเอกชนอ้างว่าองค์กรบรรลุเป้าหมาย Net zero ในขณะที่ยังสร้างหรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผลิตพลังงานฟอสซิล และจะต้องกระจายอำนาจสู่สังคมและท้องถิ่น ด้วยการปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากที่รวมศูนย์อยู่ที่ราชการ และผู้เชี่ยวชาญ
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดยนายสุรชัย ตรงงาม มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกถอดถอนในมาตรา 57 “สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจง เหตุผล จากรัฐ และแสดงความเห็นก่อนอนุญาตในการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ทำให้ไม่มีสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เกิดผลเสียต่อประชาชน ทำให้มีข้อจำกัดของศาลในการหยิบยกรัฐธรรมนูญตามสิทธิ์มาอ้างในเวลาวินิจฉัยในคดีที่ประชาชนฟ้องร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ยาก ดังนั้นพรรคการเมืองจึงต้องดำเนินการนำมาตรานี้กลับคืนมา เพราะที่ผ่านมามีการพยายามผลักดันกฎหมายเสนอร่างวิธีพิจารณาสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง แต่ก็ได้รับการปฎิเสธ จึงอยากให้กลับมารับฟังใหม่

นายภูริณัฐ เปลยานนท์ กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม คนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมยืดเยื้อมานานและรุนแรงขึ้น ดังนั้นมองว่าจะต้องเร่งแก้ไข โดยเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองเร่งดำเนินการใน 6 หัวข้อ คือ ประชาธิปไตย ภูมิภาคและพลังงาน สุขภาพ เศรษฐกิจและงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม โดยจะต้องยกเลิกโทษอาญากฎหมายหมิ่นประมาทปกป้องสิทธิ ปลดล็อกท้องถิ่นและชุมชนดูแลทรัพยากรและพัฒนาสวัสดิการ และจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวดด้านสิ่งแวดล้อม