
นายอภิรักษ์ ศรีสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ระบุว่า ปัจจุบัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำใช้การ อยู่ที่ 246 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 26 จากความจุ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร นับได้ว่ามากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบกับขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จึงทำให้ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง แต่ต้องจับตา ภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งอาจจะส่งผลกับเกษตรกรที่เพาะปลูก เบื้องต้นจึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนเข้าไปช่วยเหลือ
อีกทั้งยังเป็นการพร่องน้ำเพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะมีมากในช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. นี้ จากประสบการณ์พบว่าปีที่แล้วประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุฝนหลายครั้ง ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณมากกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินขีดความสามารถในการรองรับปริมาณน้ำของเขื่อนที่ได้เพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำตั้งแต่พื้นที่ด้านบนของเขื่อนไปจนถึงท้ายเขื่อนเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหา และหากปีนี้มีปริมาณฝนมากก็จะมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ อ.วังม่วง, แก่งคอย, เมืองสระบุรี, เสาไห้ และอ.บ้านหมอ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เบื้องต้นจึงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยืนยันว่าจะพยายามควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ที่ระดับ 600-900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อปกป้องพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง
นายชั้น โสภา ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานแก่งคอยบ้านหมอ ระบุว่า ได้มีการหารือร่วมกับสมาชิกจำนวนกว่า 1,000 ราย ในพื้นที่ 6 อำเภอท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้ติดตามสถานการณ์น้ำควบคู่กับการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อคำนวณระยะเวลาการเพาะปลูกเนื่องจากได้รับแจ้งเตือนว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนมาก จึงคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม เบื้องต้นทางกลุ่มมีมติว่าจะปรับเวลาการเพาะปลูกพืชข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด และอ้อย ให้เร็วขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวทันก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่มีพายุฝน คือจากเดิม จะเพาะปลูกในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. มาเป็นเดือน มิ.ย.-ก.ค.