เครื่องหมายอัศเจรีย์

กว่า 10 ปีชาวบ้าน หนองพะวา จ.ระยอง ต่อสู้โรงงาน ขยะพิษ

เหตุการณ์เริ่มต้นในปี 2554 

– บริษัท วินโพรเสส จำกัด ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

– ชาวบ้านชุมชน หนองพะวา ต.บ้านค่าย อ.บางบุตร จ.ระยอง ต่อต้าน เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในพื้นที่

ปี 2555 

– คนในพื้นที่ชุมชน หนองพะวา 213 คน ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งโรงงานของบริษัทฯ ขณะที่การลงมติดังกล่าว พบมีผู้เห็นด้วย 2 คน และไม่แสดงความเห็น 3 คน

– กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ

หนองพะวา 1

ปี 2556 

– บริษัทฯ ลักลอบเปิดดำเนินการ โรงงานรีไซเคิล โดยเริ่มนำกากของเสียอุตสาหกรรมเข้ามากักเก็บ ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการใด ๆ

–  คนในพื้นที่ได้ประสบความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการ

–  ชาวบ้านร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ไม่เป็นผล ทำให้ปัญหามลพิษในพื้นที่ขยายวงกว้างขึ้น

– ปัจจุบัน บริษัทฯ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 3 ใบ

– สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเข้าตรวจสอบกรณีการ ลักลอบฝังกลบของเสียในพื้นที่ของบริษัท วิน โพรเสสฯ

– ผลตรวจ พบมีการขุดบ่อเพื่อใช้ในการฝังกลบจำนวน 3 บ่อ / พบการอัดก้อนกระดาษ คัดแยกขยะต่าง ๆ แบ่งเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้ว และแปรรูป น้ำมันเครื่อง มีอาคารโรงเก็บของจำนวน 5 โรง / พบการเก็บขยะจำพวก เศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี และ น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

– ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออก เข้าร่วมตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงงาน

– พบการขุดหลุมตรงบริเวณที่ชาวบ้านสงสัยว่าจะมีการลักลอบฝังกลบไปแล้ว ซึ่งพบว่ามีไอระเหยจากหลุม ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง รวมทั้งมีการตรวจวัดพบสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ทั้งหมด (Total VOCs) สูงกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน จึงน่าเชื่อได้ว่ามีการปนเปื้อนของตัวทำละลาย 

หนองพะวา 2

– ผลตรวจวัดน้ำจากหลุบฝังกลบ พบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) 37 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมัน และไขมัน 106 มิลลิกรัม/ลิตร จัดเป็นวัตถุอันตรายในลำดับที่ 50 (ของเสียผสมระหว่างน้ำมัน /น้ำ หรือไฮโดรคาร์บอน/น้ำ หรืออยู่ในรูปอิมัลชัน) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย พ.ศ. 2538

– ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนรวมตัวกันปักหลักชุมนุมหน้าพื้นที่ของบริษัทฯ

– ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองมีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินการขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงาน

– สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทฯ ข้อหาตั้งและประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต และครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต

หนองพะวา 3

ปี 2557-2559 

– บริษัทฯ พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีก 2 รอบ แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านทั้ง 2 รอบ ด้วยเหตุผล ว่า บริษัทฯ ดำเนินกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการมาโดยตลอด ซ้ำยังมีพฤติกรรมเพิกเฉยต่อคำสั่งหน่วยงานรัฐ และไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย 

ปี 2560 

กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริษัทฯ 3 ใบ ประกอบด้วย 1. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 40(1) และ 64(11) ประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก และคัดแยกของใช้แล้วทั่วไป 2. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 60 ประกอบกิจการหล่อหลอมโลหะ และ 3. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการรีไซเคิล คืนสภาพกรดด่างทำเชื้อเพลิงผสม ล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย

– กรมโรงงานอุตสาหกรรมมอบใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่บริษัทวิน โพรเสสฯ อีก 4 ใบ

 ปัญหามลพิษหนองพะวารุนแรงชัดขึ้น 

– น้ำในลำรางหน้าโรงงานเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น

– พืชตาย ต้นหญ้าบนที่ดินทางทิศเหนือของโรงงานล้มตายเป็นบริเวณกว้าง

– ปลาและสัตว์น้ำในแหล่งน้ำใกล้โรงงานล้มตาย เช่นที่สระหนองพะวา ซึ่งเป็นบ่อน้ำสาธารณะของชุมชน  

– สวนยางของเทียบ สมานมิตร หรือ “ลุงเทียบ” เกษตรกรที่อาศัยอยู่ข้างโรงงาน ได้รับผลกระทบ ดินปนเปื้อนสารเคมี ไม่สามารถปลูกยางพารา หรือพืชชนิดอื่นได้ 

– คนในพื้นที่ร้องเรียนหน่วยงานรัฐหลายครั้ง

– มีการจัดตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา แต่คณะทำงานฯ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ปี 2563 

ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงและขยายวงกว้าง

– สวนยางของลุงเทียบกลายสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม บ่อน้ำในสวนกลายเป็นสีดำ มีกลิ่นสารเคมีลอยฟุ้ง  ต้นยางยืนต้นตายนับพันต้น อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตราย เช่น ทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท เกินเกณฑ์มาตรฐาน

– กรมควบคุมมลพิษตรวจพบว่า น้ำผิวดินรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด, มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมดึงบ่อบาดาลของชาวบ้าน

ปี 2564 

– ชาวบ้านในพื้นที่ รวม 15 คน ยื่นฟ้องคดี โรงงานวินโพรเสสฯ ในข้อหาก่อมลพิษสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกว่าร้อยไร่ โดยเรียกร้องให้จำเลยเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเงินมูลค่า 47 ล้านบาท รวมทั้งให้ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม  ขณะที่ ผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบน้ำในสวนยางของลุงเทียบและสระหนองพะวายังคงเป็นกรดและปนเปื้อนสารโลหะหนัก บางตัวยังสูงเกินค่ามาตรฐานฯ

ปี 2565 

– ล่าสุดศาลระยองสืบพยานนัดแรก สืบพยานโจทก์ ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำพิพากษา ระบุว่า ให้จำเลย คือ ฝ่ายของบริษัท วินโพรเสส จำกัด ทั้ง 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้ ชาวบ้าน รวมจำนวนเงินประมาณ 20 ล้านบาท พร้อมทั้งเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ

– เทียบ สมานมิตร หรือ “ลุงเทียบ” เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า แม้จะรู้สึกดีใจที่ศาลมีคำพิพากษาตามที่ปรากฏในสื่อ แต่ส่วนตัวก็รู้สึกกังวลเพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านการเยียวยาค่าเสียหายหรือฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากมีคำพิพากษา ล่าสุดพบว่ามีเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษเดินทางมาเก็บตัวอย่างดิน และน้ำ ในบริเวณใกล้กับโรงงาน ไปตรวจ คาดว่าจะนำไปเป็นหลักฐานประกอบการฟ้อง ที่กรมควบคุมมลพิษจะฟ้องโรงงานเกี่ยวกับประเด็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ส่วนตัวคาดว่าทางโรงงานอาจอยู่ในกระบวนการเตรียมที่จะอุทธรณ์คดี ซึ่งตนเองก็ยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด แต่หากโรงงานอุทธรณ์คดีจริง ก็รู้สึกเป็นกังวลเพราะจะยิ่งทำให้กระบวนการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายล่าช้าต่อไปอีก 

แชร์