เครื่องหมายอัศเจรีย์

กองหินใต้น้ำธรรมชาติ แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล

เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วหลังเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยอง แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงรอคำตอบเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยหลายฝ่ายบอกตรงกันว่าจำนวนสัตว์น้ำ เช่น ปู ปลาเศรษฐกิจ (ปลาทู, ปลาเก๋า, ปลาอินทรีย์, ปลากุเลา) หมึกหอม และ หมึกหลอด ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพวกเขาต้องการทราบว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุน้ำมันรั่วหรือไม่ 

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือจำนวนสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณกองหินธรรมชาติ ซึ่งรู้จักกันในหมู่ชาวประมงพื้นบ้านว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหาอาหาร และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนตามธรรมชาติ ลดลง เดิมทีชาวประมงนิยมออกหาสัตว์น้ำตามกองหินเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาเปรียบเทียบว่าภายใต้ท้องทะเลจะมีกองหินที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก แต่หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว พบว่าแม้จะออกทำประมงหาสัตว์น้ำตรงจุดเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการหารายได้เลี้ยงครอบครัว 

ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ชวนรู้จักกองหินธรรมชาติที่สำคัญ 3 แห่ง ที่เป็นแหล่งซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่อย่างชุกชุม

กองหินใหม่ กองหินขนาดใหญ่มีความกว้างฐานหินประมาณครึ่งไมล์ทะเล อยู่ห่างจากฝั่งที่บริเวณปากร่องน้ำระยองประมาณ 10 ไมล์ทะเล ระดับความลึกจากยอดหินถึงผิวน้ำ 11 เมตร 

กองหินญวนกองนอก มีความกว้างฐานหินประมาณครึ่งไมล์ทะเล อยู่ห่างจากฝั่งที่บริเวณปากร่องน้ำระยองประมาณ 2.5 ไมล์ทะเล ระดับความลึกจากยอดหินถึงผิวน้ำ 7 เมตร 

กองหินญวนกองใน/หินตาบัว มีความกว้างฐานหินประมาณ 200-300 เมตร อยู่ห่างจากฝั่งที่บริเวณปากร่องน้ำระยองประมาณ 2 ไมล์ทะเล ระดับความลึกจากยอดหินถึงผิวน้ำ 7 เมตร 

แชร์