
กอนช.ตั้งศูนย์จัดการ น้ำ ฯ ภาคกลาง รับฝนตกหนัก-มวลน้ำเหนือ ขณะชาวอยุธยารวมตัวเรียกร้องผันน้ำเข้าทุ่ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ที่ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อบริหารจัดการมวลน้ำจากการระบายน้ำเหนือ และฝนตกหนัก หลังการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าพบว่าตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 65) ถึงวันที่ 21 ก.ย. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก ซึ่งจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่า ไหลเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงแม่น้ำลำคลองต่างๆทำให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำหลายแห่งมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเต็ม 100% ของความจุ เขื่อนทับเสลามีปริมาณน้ำ 68% ของความจุ ซึ่งเกินเกณฑ์การควบคุม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอีก 240 ล้านลบ.ม. รวมไปถึงแม่น้ำวัง, แม่น้ำยม ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนทำให้ต้องมีการเร่งระบายน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้ปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น จนเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่เหนือเขื่อนบริเวณจุดลุ่มต่ำของจ.ชัยนาท
กรมชลประทานจึงต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันไดในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ จ.อ่างทอง, สิงห์บุรี และ พระนครศรีอยุธยา
ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงฤดูฝนของภาคกลาง
รวมถึง กทม. ขณะนี้ก็ยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำและอำนวยการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยแนวทางการทำงานของศูนย์ฯ ที่สำคัญคือ การติดตามพื้นที่ประสบอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนพร้อมพิจารณาเกณฑ์การรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและขั้นตอนแนวทางการ ผันน้ำเกณฑ์การบริหารจัดการประตูระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและออกเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้โดยส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ขณะที่วันนี้พบความเคลื่อนไหวของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, คลองบางหลวง, คลองบางบาล และแม่น้ำน้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา รวมตัวกันที่ประตูน้ำ บางกุ้ง ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกร้องให้ชลประทาน แบ่งน้ำเข้าทุ่งนา หลังเลยกำหนดข้อตกลงที่ชลประทานจะยกประตูผันน้ำเข้าทุ่ง เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา
นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล ให้ข้อมูลกับทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ระบุว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือต้องการให้กรมชลประทาน ระบายน้ำเข้าทุ่งตามกติกา ที่ได้ตกลงกันไว้เพื่อแบ่งเบาภาระของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมขังซ้ำซากและต่อเนื่องยาวนาน หลายสัปดาห์ โดยหากมีการผันน้ำเข้าทุ่งอย่างเป็นธรรมพร้อมกันทุกทุ่งในพื้นที่ภาคกลาง ก็เชื่อว่าจะสามารถกระจายมวลน้ำได้ ทำให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณเดิม ๆ ลดลง เพราะน้ำหลากไปยังจุดอื่นบ้าง ที่สำคัญยังสร้างขวัญกำลังใจให้กับ ผู้ที่ต้องประสบภัยว่าไม่ได้แบกรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว