เครื่องหมายอัศเจรีย์

นโยบายการจัดการฝุ่น PM 2.5  ไทย VS เวียดนาม

PM2.5

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย  ระบุว่า  การเกิดฝุ่นในประเทศไทยช่วงนี้เนื่องจากหมดภาวะของ “ลานีญา” ทำให้เกิดฝนตกน้อยลง จนเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 กลับมา ขณะที่ยังมีลมพัดจากทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่นำความเย็นหรือความกดอากาศสูงมาจากแผ่นดินใหญ่อ่อนกำลังลง

ทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิผกผันหรือ สภาวะTemperature Inversion ในเขต กทม. ทำให้การฟุ้งกระจายในแนวราบและแนวดิ่งลดลง ตลอดจนประชาชนออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้นรวมทั้งใกล้เทศกาลปีใหม่ การจราจรใน กทม. เริ่มติดขัดมากกว่าปกติจึงเริ่มเห็นฝุ่นPM 2.5 ในเขต กทม.เกินค่ามาตรฐานหลายแห่งโดยเฉพาะริมเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นและแหล่งอุตสาหกรรม

PM 2.5
…เปรียบเทียบการจัดการฝุ่น PM 2.5 ไทยกับเวียดนาม…

นายสนธิ  ให้ความเห็นว่า  ทุกปีในช่วงฤดูหนาวประเทศไทยและประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปริมาณฝุ่นPM 2.5 มีค่าสูงเกินมาตรฐานเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและทราบว่าแหล่งกำเนิดที่สำคัญมาจากการปล่อยไอเสียและควันดำของรถเครื่องยนต์ดีเซลที่วิ่งอยู่มากในเมืองใหญ่เช่นกัน แต่การปรับตัวกลับต่างกัน

โดยประเทศเวียดนามได้มีการประกาศกำหนดมาตรฐานค่าไอเสียสำหรับรถยนต์ใหม่ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถันในน้ำมันไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน) มีผลบังคับใช้กับรถยนต์ใหม่ทุกรุ่นที่นำเข้ามาขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่วนรถยนต์ที่ผลิตและมีการใช้ในประเทศอยู่แล้วยังอนุโลมให้มีค่าไอเสียเป็นยูโร 4 (กำมะถันในน้ำมันไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน) ได้จนกว่าจะขายหมด จากนั้นจะต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ยูโร 5 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้รถยนต์เครื่องดีเซลลดการปล่อยฝุ่นPM 2.5 ได้มากถึง 80%

PM 2.5 2

ขณะที่ประเทศไทยมีมติ ครม.ปี2562 ประกาศใช้มาตรฐานค่าไอเสียรถยนต์ยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 4/2563 วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้ประกาศเลื่อนให้ใช้บังคับใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และนำเสนอ ครม. เห็นชอบอ้างว่าเพื่อให้รถยนต์ใหม่ที่จะเปิดตัวในอนาคตกับโรงกลั่นน้ำมันมีความพร้อมในการผลิตก่อน จึงทำให้ประเทศไทยมีรถยนต์ใหม่ที่ยังใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 ต่อไปอีก 2 ปี

อีกทั้งการกำหนดค่ามาตรฐานไอเสียจากรถเครื่องยนต์ดีเซลของประเทศไทยช้ากว่าประเทศเวียดนามถึง 2 ปี ทำให้เวียดนามสามารถลดปัญหาฝุ่นPM 2.5 ในช่วงฤดูหนาวลงได้มากและเร็วกว่าประเทศไทย เพราะรัฐบาลเวียดนามไม่มีการประนีประนอมกับมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

พร้อมจัดการทันทีโดยไม่สนใจกลุ่มทุนขายน้ำมันหรือค่ายรถยนต์ที่มาต่อรองผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ ซึ่งเวียดนามจัดการได้สำเร็จ แต่ประเทศไทยแม้มีมติ ครม. แล้วที่จะดำเนินการให้เสร็จในปี 2564 แต่กลับมีมติเปลี่ยนเป็นปี 2567 เมื่อกลุ่มทุนมาขอขยายเวลาทำให้ประชาชนยังคงได้รับฝุ่นPM 2.5 ต่อไปในช่วงฤดูหนาวและมีอากาศปิดทุกปี

PM 2.5 3
….ฝุ่น PM 2.5  สารพิษที่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง…

นายสนธิ  กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เมื่อปี 2556 เนื่องจากการศึกษาองค์ประกอบของสารพิษที่อยู่ในฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ที่อยู่ริมถนนโดยใช้เครื่องมือ Dichotomous Partisol Samplers ดำเนินการโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัย Birmingham ทำการศึกษาในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา จีน บริเวณริมถนนที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำพบว่า

  • ในฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน จะประกอบด้วย ซัลเฟต (sulphate), ไนเตรต (nitrate), คลอไรด์ (chloride), อินทรีย์คาร์บอน (organic carbon), กลุ่มธาตุคาร์บอน (elemental carbon), ธาตุเหล็ก – แคลเซี่ยมซิเทรท (iron and calcium) เป็นต้น  โดยจะมีสารคาร์บอนด์ , ซัลเฟตและไนเตรทรวมกันถึงร้อยละ 80 สำหรับสารคาร์บอนด์จะเป็นกลุ่มของสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons( PAHs)ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งมากที่สุด  จึงทำให้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้กำหนดให้ PM 2.5 เป็นสารกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี 2556 
  • สำหรับซัลเฟต,ไนเตรต,แคลเซียมเป็นสารอนินทรีย์ที่มาจากฝุ่นดินบนนถนน และเหล็กเป็นโลหะหนักมาจากการกัดกร่อนของเครื่องยนต์ ซึ่งทั้งหมดเป็นของแข็งที่ไม่ย่อยสลายและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีความแข็งแทงทะลุเข้าไปในถุงลมปอดได้ หากเป็นฝุ่นขนาด 1 ไมครอน จะสามารถทะลุเข้าไปในเส้นเลือดและไหลไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย
  • เมื่อหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็กริมถนนเข้าไปปริมาณมากจึงมีโอกาส เป็นโรคมะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น

ดังนั้นประชาชนจึงต้องระวังสุขภาพเมื่อเดินหรืออยู่บนถนนโดยเฉพาะที่มีอาคารสูงสองข้างและการจราจรติดขัด ถนนข้างใต้สถานีรถไฟฟ้า ถนนที่มีการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น พร้อมพกหน้ากากกันฝุ่น Model N-95 จะป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงร้อยละ 95 ขึ้นไป

สนธิ
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

แชร์