
ผู้นำภาคอุตสาหกรรมและการเงินต่างให้ความเห็นว่าการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือ COP27 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ควรให้พื้นที่กับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น หลังจากที่ประเทศยากจนกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตภาวะโลกร้อน
ความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบของภาวะโลกรวนและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในแถบซีกโลกใต้และประเทศพัฒนาแล้วกำลังตกเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในการประชุมCOP27 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์
Mo Ibrahim มหาเศรษฐีนักธุรกิจสัญชาติซูดานและอังกฤษ กล่าวว่า แม้ว่าแอฟริกาจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 3% แต่ประเทศในทวีปดังกล่าว 10 ประเทศกลับได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาต่างกำลังเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยกว่าที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จ่ายค่าเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกรวน เช่น น้ำท่วมและไฟป่าให้มากขึ้น
อียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเปราะบางต่อภาวะโลกรวนมาก ได้ตั้งตนเป็นกระบอกเสียงเอาใจประเทศในแถบแอฟริกา ก่อนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมCOP27 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค (Sharm el-Sheikh)

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีจากประเทศในแอฟริกาได้หารือกันที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ และเรียกร้องให้มีการขยายแหล่งเงินทุนด้านภูมิอากาศให้กับทวีปแอฟริกา แต่กลับไม่สนับสนุนการเลิกใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยทันที

ขณะที่ Peter Hill ประธานบริหารของการกระชุม COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ให้ความเห็นว่า COP ควรเป็นเวทีที่ทำให้คนทั้งโลกเห็นว่า เรากำลังมุ่งไปสู่หนทางที่ถูกต้องที่เกิดจากการร่วมมือกันบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าประเด็นเรื่องการสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวนจะเป็นโจทย์ใหญ่ของการประชุมCOP27 และประเทศอย่างสหราชอาณาจักรจะเข้ามามีบทบาทเชิงก้าวหน้าในเรื่องนี้มากขึ้น

Andrew Steer ประธานบริหารของกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมของ Jeff Bezos ประธานบริษัท Amazon กล่าวว่า กองทุน Bezos Earth Fund ของ Jeff Bezos มีจุดประสงค์ในการสร้างภาคีระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกาและยุโรปที่เข้าร่วมการประชุม COP เพื่อสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าในแอฟริกา และมีเป้าหมายฟื้นฟูป่าและพื้นดินที่เสื่อมโทรมในทวีปแอฟริกาเป็นเนื้อที่กว่า 600 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ตัวอย่างโครงการหนึ่งภายใต้กองทุนนี้มีชื่อว่า AFR100 initiative ซึ่งขับเคลื่อนโดยประเทศในสหภาพแอฟริกา
Andrew Steer อธิบายว่า เกษตรกรในประเทศแอฟริกากำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนอย่างแสนสาหัส การฟื้นฟูป่าจึงมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งหมายถึงการที่เกษตรกรจะมีรายได้ มีความมั่นคงทางอาหาร และมีพื้นดินที่มีความต้านทานสูงมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศรวยต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างภูมิต้านทานเพื่อช่วยประเทศและประชากรที่ยากจนในการปรับตัว

ขณะที่ Elizabeth Mrema เลขานุการบริหารของสำนักงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความเห็นว่า ยังมีข้อตกลงต่างๆ จำนวนมากที่ได้บรรลุไว้ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์เมื่อปีที่แล้วซึ่งยังไม่ได้นำมาบังคับใช้ให้บรรลุผล โดยการประชุมครั้งที่ 27 นี้ควรมีความต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว และเน้นการบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆ ที่มีร่วมกันให้ได้เสียก่อนดีกว่าการจะบรรลุข้อตกลงใหม่ๆ โดยไร้ซึ่งการปฏิบัติจริง