เครื่องหมายอัศเจรีย์

การสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ

การสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss / loss of biodiversity) คือการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพภายในหนึ่งชนิดพันธุ์ (species) หนึ่งระบบนิเวศ  หนึ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือโลกโดยรวม ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity / biological diversity) เป็นคำที่หมายถึงจำนวนของยีน ชนิดพันธุ์ สิ่งมีชีวิตเดี่ยวๆ ภายในชนิดพันธุ์หนึ่ง และชุมชนทางชีววิทยา (biological community) ภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนด ตั้งแต่ระบบนิเวศที่เล็กที่สุดไปจนถึงชีวมณฑลโลก (global biosphere) (ชุมชนทางชีววิทยาคือกลุ่มที่ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่เดียวกัน) ในทำนองเดียวกัน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพหมายถึงการลดลงของจำนวน การแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variability) และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และชุมชนทางชีววิทยาในพื้นที่หนึ่ง การสูญเสียความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวอาจทำให้การทำหน้าที่ของระบบนิเวศนั้นรวนหรือพังทลายได้

การสูญเสีย 1

แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมักเกี่ยวข้องกับความมากชนิด (species richness หรือจำนวนชนิดพันธุ์ในพื้นที่) ดังนั้นการ สูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมักถูกมองว่าเป็นการสูญเสียชนิดพันธุ์จากระบบนิเวศหรือแม้แต่ชีวมณฑลทั้งหมด อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกับการสูญเสียชนิดพันธุ์เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เรามองข้ามปรากฏการณ์อื่นๆ ที่แฝงอยู่และคุกคามสุขภาพของระบบนิเวศ (ecosystem health) ในระยะยาว การลดลงของจำนวนประชากรอย่างกะทันหันอาจทำให้โครงสร้างทางสังคมของบางชนิดพันธุ์กระเทือน โดยทำให้ตัวผู้และตัวเมียไม่สามารถหาคู่ได้ซึ่งอาจทำให้จำนวนประชากรลดลงอีก การลดลงของความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) ที่มาพร้อมกับจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็วอาจเพิ่มการผสมพันธุ์เลือดชิด (inbreeding หรือการผสมพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน) ซึ่งยิ่งอาจทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงอีก

แม้ว่าชนิดพันธุ์หนึ่งๆ จะไม่ถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศหรือจากชีวมณฑล แต่บทบาทของมันจะลดลงตามจำนวนที่ลดลง หากบทบาทที่มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของระบบนิเวศถูกครองโดยชนิดพันธุ์เดียวหรือกลุ่มชนิดพันธุ์เดียว จำนวน ประชากรของชนิดพันธุ์นั้นที่ลดลงอย่างกะทันหันอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในโครงสร้างของระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น การถางต้นไม้ออกจากป่าจะกำจัดตัวบังแสง ตัวควบคุมอุณหภูมิและความชื้น แหล่งที่อยู่ของสัตว์ และบริการขนส่งสารอาหารที่ต้นไม้เหล่านี้มอบให้กับระบบนิเวศ

การสูญเสีย 2
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ

ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่จะเพิ่มขึ้นและลดลงตามวงจรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล อย่างช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิจะสร้างโอกาสในการหาอาหารและการผสมพันธุ์ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นเพราะจำนวนประชากรของหลายชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ช่วงต้นของฤดูหนาวทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ลดลงชั่วคราว เนื่องจากแมลงที่ปรับตัวเข้ากับความอบอุ่นได้ตายลงและสัตว์อพยพย้ายจากไป นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาลของประชากรพืชและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (เช่น แมลงและแพลงก์ตอน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่น ๆ ยังเป็นตัวกำหนดความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่หนึ่ง ๆ อีกด้วย

การสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพมักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาแบบถาวรในระบบนิเวศ ภูมิประเทศ และชีวมณฑลโลก การรบกวนระบบนิเวศตามธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม และการระเบิดของภูเขาไฟ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการกำจัดประชากรท้องถิ่นบางชนิดพันธุ์ และพลิกโฉมชุมชนทางชีววิทยาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การรบกวนดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เนื่องจากการรบกวนตามธรรมชาติเป็นเรื่องปกติและระบบนิเวศก็สามารถปรับตัวต่อความท้าทายมาโดยตลอด 

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากมนุษย์
การสูญเสีย 3

ในทางตรงกันข้าม การสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพจากการรบกวนของมนุษย์มักจะรุนแรงกว่าและยาวนานกว่า มนุษย์ (โฮโมเซเปียนส์) รวมถึงพืชผลและสัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์กินพื้นที่บนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยครึ่งหนึ่งบนโลก (ประมาณ 51 ล้านตารางกิโลเมตร) ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และ 77% ของพื้นที่เกษตรกรรม (ประมาณ 40 ล้านตารางกิโลเมตร) ถูกใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์อย่างวัวควาย แกะ แพะ และปศุสัตว์อื่นๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งหญ้า และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ ทำให้จำนวนสัตว์มีกระดูกสันหลังทั่วโลกลดลง 60% โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1970 โดยการสูญเสียประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดเกิดขึ้นในแหล่งที่อยู่น้ำจืด (83%) และในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง (89%) ระหว่างปี 1970 ถึง 2014 ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.7 พันล้านคนเป็น 7.3 พันล้านคน ภายในปี 2018 มวลชีวภาพของมนุษย์และปศุสัตว์ (0.16 กิกะตัน) มีน้ำหนักมากกว่ามวลชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่า (0.007 กิกะตัน) และนกป่า (0.002 กิกะตัน) อย่างมาก นักวิจัยประเมินว่าอัตราการสูญเสียชนิดพันธุ์ในปัจจุบันอยู่ระหว่าง 100 ถึง 10,000 เท่าของอัตราการสูญพันธุ์ปกติ (ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1–5 ชนิดต่อปีเมื่อดูจากจำนวนฟอสซิลทั้งหมด) นอกจากนี้ รายงานปี 2019 ที่จัดทำโดยเวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (IPBES) ระบุว่าพืชและสัตว์มากถึงหนึ่งล้านชนิดพันธุ์กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์จากกิจกรรมของมนุษย์

การสูญเสีย 4

การแผ้วถางป่า การถมพื้นที่ชุ่มน้ำ การกำหนดและเปลี่ยนเส้นทางลำน้ำ และการสร้างถนนและอาคารมักเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างเป็นระบบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวิถีทางนิเวศวิทยา (ecological trajectory) ของภูมิประเทศหรือภูมิภาคหนึ่งๆ เมื่อประชากรมนุษย์เติบโตขึ้น ระบบนิเวศบนบกและในน้ำที่พวกเขาใช้อาจถูกเปลี่ยนจากความพยายามในการเสาะหาและผลิตอาหาร การปรับภูมิทัศน์ให้เข้ากับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และสร้างโอกาสในการค้าขายกับชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมักจะมาพร้อมกับกระบวนการเหล่านี้

นักวิจัยได้ระบุปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 5 อย่างของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไว้ดังนี้

การสูญเสียและการเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่ หมายถึง การตัดทอน การแบ่งส่วน หรือการทำลายแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งเป็นตัวลดหรือกำจัดทรัพยากรอาหารและพื้นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ ชนิดพันธุ์ที่ไม่สามารถอพยพมักจะล้มหายตายจากไป

ชนิดพันธุ์ที่รุกราน (invasive species) หมายถึงพันธุ์ที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองซึ่งจะปรับเปลี่ยนหรือรบกวนระบบนิเวศที่พวกมันเข้ามาตั้งรกรากอย่างมีนัยสำคัญ พวกมันอาจแย่งชิงอาหารและแหล่งที่อยู่ของพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชากรพันธุ์พื้นเมืองลดลง ชนิดพันธุ์ที่รุกรานอาจมาถึงพื้นที่ใหม่ผ่านการอพยพตามธรรมชาติหรือโดยการนำเข้าโดยมนุษย์

การใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด (overexploitation) หมายถึงการล่าสัตว์ ปลา หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เกินขีดความสามารถของประชากรที่เหลืออยู่ที่จะสืบพันธุ์ทดแทนการสูญเสีย ส่งผลให้สัตว์บางชนิดพันธุ์ลดจำนวนลงจนเหลือน้อยมาก และบางชนิดถูกทำให้สูญพันธุ์ไป

มลพิษ หมายถึงการเพิ่มสารหรือพลังงานรูปแบบใดๆ สู่สิ่งแวดล้อมในอัตราที่เร็วกว่าที่มันจะกระจายตัว เจือจาง ย่อยสลาย รีไซเคิล หรือจัดเก็บในรูปแบบที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพโดยสร้างปัญหาสุขภาพแก่สิ่งมีชีวิตที่สัมผัสโดน ในบางกรณี การได้รับสารอาจเกิดขึ้นในปริมาณที่สูงมากพอที่ทำให้ตายได้ทันทีหรือสร้างปัญหาด้านการสืบพันธุ์ซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชนิดพันธุ์หนึ่งๆ

การสูญเสีย 5

ภาวะโลกรวนที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน หมายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลกที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเพิ่มการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดในชั้นบรรยากาศและดักจับความร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบอุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้า

นักนิเวศวิทยาเน้นย้ำว่าการสูญเสียแหล่งที่อยู่ (มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งหญ้า และพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ให้เป็นพื้นที่เมืองและพื้นที่การเกษตร) และชนิดพันธุ์ที่รุกรานเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เป็นที่รู้กันว่าภาวะโลกรวนอาจกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในศตวรรษที่ 21 ในระบบนิเวศหนึ่งๆ ขีดความทนทานของสายพันธุ์ต่างๆ และกระบวนการหมุนเวียนของสารอาหารจะถูกปรับให้เข้ากับรูปแบบอุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้าที่เป็นอยู่ บางชนิดพันธุ์อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากภาวะโลกร้อนไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังอาจเปิดโอกาสให้กับชนิดพันธุ์ที่รุกราน ซึ่งอาจยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับสายพันธุ์ที่กำลังดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ปัจจัยขับเคลื่อนทั้งห้าได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรมนุษย์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสองอย่างหรือมากกว่านั้นจะเพิ่มอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทั่วไปแล้วระบบนิเวศที่แยกออกจากกันจะไม่ทนทานเท่าระบบนิเวศที่อยู่ติดกัน และพื้นที่โล่งสำหรับทำฟาร์ม ถนน และที่อยู่อาศัยก็เป็นช่องทางให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามารุกราน ซึ่งมีส่วนทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองลดจำนวนลงอีก การสูญเสียแหล่งที่อยู่รวมกับความกดดันจากการถูกล่าเป็นตัวเร่งการลดลงของสัตว์ที่เรารู้จักกันดีหลายพันธุ์ เช่น อุรังอุตังบอร์เนียว (Pongo pygmaeus) ซึ่งอาจสูญพันธุ์ภายในกลางศตวรรษที่ 21 นักล่าฆ่าอุรังอุตังบอร์เนียวปีละ 2,000–3,000 ตัวในช่วงปี 1971–2011 และการถางป่าเขตร้อนขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis) กลายเป็นอุปสรรคอีกอย่างต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์นี้ การผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 900% ในอินโดนีเซียและมาเลเซียในช่วงปี 1980–2010 และจากการตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อนขนาดใหญ่บนเกาะบอร์เนียว ลิงอุรังอุตังบอร์เนียวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นับร้อยนับพันชนิดจึงไร้แหล่งที่อยู่

ผลกระทบทางนิเวศวิทยา

น้ำหนักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะเด่นชัดที่สุดในชนิดพันธุ์ที่ประชากรกำลังลดลง การสูญเสียยีนและชีวิตทุกชีวิตถือเป็นการคุกคามการอยู่รอดของแต่ละสายพันธุ์ในระยะยาว เนื่องจากการหาคู่ยากขึ้นและความเสี่ยงจากการผสมพันธุ์เลือดชิดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้รอดชีวิตที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดผสมพันธุ์กันเอง รวมถึงการสูญเสียประชากรครั้งละจำนวนมากซึ่งมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงที่สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะสูญพันธุ์

ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงจะลดผลผลิตของระบบนิเวศ (ปริมาณพลังงานจากอาหารที่ถูกแปลงเป็นมวลชีวภาพ) และลดคุณภาพของบริการของระบบนิเวศ ซึ่งมักรวมถึงการบำรุงสภาพดิน การกรองน้ำที่ไหลผ่าน การให้อาหารและให้ร่มเงา ฯลฯ

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพยังคุกคามโครงสร้างและการทำงานที่เหมาะสมของระบบนิเวศ แม้ว่าระบบนิเวศทั้งหมดจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพได้ในระดับหนึ่ง แต่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะลดความซับซ้อนของระบบนิเวศ เนื่องจากบทบาทต่างๆ ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์หรือระหว่างสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายจะน้อยลงหรือไม่มีเลย เมื่อส่วนนี้หายไป ระบบนิเวศจะสูญเสียความสามารถในการฟื้นตัวจากการรบกวน นอกเหนือจากวิกฤติเรื่องการหายไปหรือการลดจำนวนลงของชนิดพันธุ์แล้ว ระบบนิเวศก็อาจไม่เสถียรและล่มสลายได้เพราะว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เคยเป็น (เช่น ป่าเขตร้อน บึงเขตอบอุ่น ทุ่งหญ้าอาร์กติก ฯลฯ) และผ่านการปรับโครงสร้างอย่างรวดเร็วแล้วกลายสภาพเป็นอย่างอื่น (เช่น พื้นที่เพาะปลูก เขตที่อยู่อาศัยแยกย่อย หรือระบบนิเวศในเมืองอื่นๆ ที่ดินรกร้างแห้งแล้ง ฯลฯ)

ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงยังก่อให้เกิด “การหลอมรวมของระบบนิเวศ” (ecosystem homogenization) ทั่วทั้งภูมิภาคและชีวมณฑล ชนิดพันธุ์พิเศษ (specialist species หรือชนิดพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับแหล่งที่อยู่ แหล่งอาหาร หรือสภาพแวดล้อมได้จำกัด) มักจะเปราะบางที่สุดเมื่อจำนวนประชากรลดลงมากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ในทางกลับกัน ชนิดพันธุ์ทั่วไป (generalist species หรือชนิดพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับแหล่งที่อยู่ แหล่งอาหาร และสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย) และชนิดพันธุ์ที่มนุษย์ชื่นชอบ (เช่น ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง พืชผล และไม้ประดับ) กลายเป็นผู้เล่นหลักในระบบนิเวศเมื่อชนิดพันธุ์พิเศษหายไป เนื่องจากชนิดพันธุ์พิเศษและชนิดพันธุ์หายาก (unique species) (รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับชนิดพันธุ์อื่น) สูญหายไปในวงกว้าง แต่ละระบบนิเวศในพื้นที่นั้นจึงสูญเสียความซับซ้อนและลักษณะเฉพาะตัวไปบางส่วน เนื่องจากโครงสร้างของห่วงโซ่อาหารและกระบวนการหมุนเวียนสารของพวกมันคล้ายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ มนุษย์พึ่งพาพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หลายชนิดเพื่อเป็นอาหาร วัสดุก่อสร้าง และยารักษาโรค และการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ในฐานะสินค้าก็มีความสำคัญต่อหลาย ๆ วัฒนธรรม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคุกคามความมั่นคงทางอาหารของโลกและการพัฒนายาใหม่เพื่อจัดการกับโรคในอนาคต ระบบนิเวศที่เรียบง่ายและคล้ายคลึงกันมากขึ้นยังแสดงถึงความสูญเสียทางสุนทรียภาพ

ความขาดแคลนทางเศรษฐกิจด้านพืชอาหารทั่วไปอาจเห็นได้ชัดเจนกว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศและภูมิทัศน์ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตลาดโลก ตัวอย่างเช่น กล้วยหอมคาเวนดิชเป็นพันธุ์ที่พบมากที่สุดที่นำเข้าโดยประเทศนอกเขตร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่าการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมของชนิดพันธุ์นี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคตายพราย (Tropical Race 4 – TR4) ซึ่งเป็นโรคจากเชื้อราที่ขัดขวางการส่งผ่านน้ำและสารอาหารและทำให้ต้นกล้วยตาย ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่า TR4 อาจทำให้กล้วยหอมคาเวนดิชสูญพันธุ์ถ้ามีการระบาดอีกในอนาคต พืชอาหารประมาณ 75% สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี 1900 สาเหตุหลักมาจากการพึ่งพาแต่สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงซึ่งมีจำนวนแค่หยิบมือ การขาดความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชผลดังกล่าวคุกคามความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสายพันธุ์ต่าง ๆ อาจเสี่ยงต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ชนิดพันธุ์ที่รุกราน และภาวะโลกรวน แนวโน้มที่คล้ายกันก็เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยวัวควายและสัตว์ปีกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงเป็นที่นิยมเลี้ยงมากกว่าพันธุ์ป่าที่ให้ผลผลิตต่ำ

ยากระแสหลักและยาแผนโบราณอาจได้มาจากสารเคมีในพืชและสัตว์หายาก ดังนั้น ชนิดพันธุ์ที่สูญหายจึงหมายถึงการสูญเสียโอกาสในการรักษา ตัวอย่างเช่น เชื้อราหลายชนิดพันธุ์ที่พบบนขนของสลอธสามนิ้ว (Bradypus variegatus) เป็นตัวผลิตยาที่ใช้กำจัดปรสิตที่เป็นสาเหตุของมาลาเรีย (จากเชื้อ Plasmodium falciparum) และโรคชากาส (จากปรสิต Trypanosoma cruzi) รวมถึงมะเร็งเต้านมในมนุษย์

แนวทางแก้ไขการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

การรับมือกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเชื่อมโยงโดยตรงกับอุปสรรคด้านการอนุรักษ์ที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ทราบว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้นโยบายสาธารณะและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกันโดยมีการติดตามและการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาล องค์การนอกภาครัฐ และชุมชนวิทยาศาสตร์ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติและปกป้องชนิดพันธุ์ภายในนั้นจากการโดนจับโดยไม่จำเป็น ในขณะที่ลดแรงจูงใจในพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่ และจะต้องคิดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (การวางแผนเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน) เวลามีการสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับเพาะปลูกและอยู่อาศัยของมนุษย์ กฎหมายที่ป้องกันการบุกรุกล่าสัตว์ (poaching) และการค้าสัตว์ป่าแบบไม่เลือกชนิด (indiscriminate trade) จะต้องได้รับการแก้ไขและบังคับใช้ และต้องมีการตรวจสอบสิ่งของที่ขนส่งที่ท่าเรือเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตที่แอบซ่อนไว้

การพัฒนาและดำเนินการแก้ไขต้นตอแต่ละอย่างของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยลดแรงกดดันต่อชนิดพันธุ์และระบบนิเวศต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ยอมรับว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องคือการปกป้องชนิดพันธุ์ที่เหลือจากการล่าและการประมงเกินขนาด และการรักษาแหล่งที่อยู่และระบบนิเวศของพวกมันให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และปลอดภัยจากชนิดพันธุ์ที่รุกรานของและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ความพยายามในการตรวจสอบสถานภาพของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดพันธุ์ เช่น บัญชีแดงแสดงชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) และบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกายังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผู้มีอำนาจตัดสินใจในการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีการระบุพื้นที่จำนวนมากที่มีความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์หายากซึ่งควรอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ต้องปกป้อง “ฮอตสปอต” (hotspot) ดังกล่าวคือพื้นที่ที่มีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูง (endemism) ซึ่งหมายความว่าชนิดพันธุ์ที่พบในบริเวณนี้จะไม่พบในที่อื่นบนโลก ฮอตสปอตทางนิเวศวิทยามักจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมเขตร้อนซึ่งมีความสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าในระบบนิเวศที่อยู่ใกล้กับขั้วโลกมาก

การดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ รัฐบาลหลายประเทศได้อนุรักษ์พื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ 20 รายการหรือเป้าหมายไอจิ (Aichi Biodiversity Targets) ได้รับการเปิดเผยในการประชุม CBD ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2010 จุดประสงค์ของรายการนี้คือทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นกระแสหลักทั้งในตลาดเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และเพิ่มการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2020 โดยตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมามี 164 ประเทศที่พัฒนาแผนแล้วเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น หนึ่งเป้าหมายสำคัญในรายการคือพยายามปกป้องแหล่งน้ำบนบกและแหล่งน้ำในแผ่นดินให้ได้ 17% หรือมากกว่านั้น และปกป้องพื้นที่ชายฝั่งและทะเลให้ได้อย่างน้อย 10% ทั้งนี้ ภายในเดือนมกราคม 2019 ประมาณ 7.5% ของมหาสมุทรทั่วโลก (ซึ่งรวมถึง 17.3% ของสิ่งแวดล้อมทางทะเลในน่านน้ำอาณาเขต) ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากพื้นที่บนบก 14.9%

โดย John P. Rafferty

ที่มา https://www.britannica.com/science/biodiversity-loss

https://www.scimath.org/article-biology/item/593-biodiversity-is-life

แชร์