Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ เฮอร์ริเคน รุนแรงขึ้น?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ เฮอร์ริเคน รุนแรงขึ้น?

หลังจากผ่านช่วงต้นฤดูกาลที่เงียบสงบพายุ เฮอร์ริเคน Fiona พัดถล่มเปอร์โตริโกและสาธารณรัฐโดมินิกัน ทำให้ผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำใช้ จากนั้นพายุยังส่งผลกระทบต่อชายฝั่งด้านตะวันออกของแคนาดาและทำให้บ้านเรือนรวมทั้งธุรกิจหลายแสนแห่งไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อความรุนแรงหรือพฤติกรรมของพายุ เฮอร์ริเคน ลูกนี้หรือไม่ แต่ก็มีหลักฐานที่ค่อนข้างหนักแน่นว่าพายุที่รุนแรงในลักษณะนี้กำลังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

​นี่คือเหตุผลว่าทำไม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อพายุเฮอร์ริเคนหรือไม่

คำตอบคือ ใช่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุเฮอร์ริเคนมีความชื้นมากขึ้น มีลมแรงขึ้นและทั้งหมดทั้งมวลก็ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าโลกร้อนส่งผลให้พายุเหล่านี้เคลื่อนที่ช้าลงซึ่งหมายความว่าพายุจะส่งผลให้แต่ละพื้นที่จะต้องรับน้ำมากกว่าเดิม

หากไม่มีมหาสมุทร โลกของเราอาจจะร้อนกว่านี้มาก ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทรช่วยดูดซับความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งกักเก็บความร้อนเอาไว้ได้ถึงประมาณ 90%

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้ปริมาณฝนที่เกิดจากพายุแต่ละลูกเพิ่มมากขึ้น เพราะสภาวะของชั้นบรรยากาศที่อุ่นขึ้นจะกักเก็บความชื้นไว้ได้มากขึ้น ไอน้ำจะก่อตัวจนกระทั่งเมฆแตกตัวเป็นน้ำ ทำให้เกิดฝนตกหนักลงมายังผืนดินเบื้องล่าง

ระหว่างช่วงฤดูเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2020 ซึ่งนับเป็นฤดูกาลที่รุนแรงที่สุดปีหนึ่งเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณฝนรายชั่วโมงที่เกิดจากพายุซึ่งมีความรุนแรงระดับเฮอร์ริเคนเพิ่มขึ้นถึง 8-11% อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อเดือนเมษายนปี 2022

ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) คาดว่าหากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส ความเร็วลมของพายุเฮอร์ริเคนอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10%

นอกจากนี้ NOAA ยังประมาณการถึงสัดส่วนของพายุเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงถึงระดับสูงสุด หรือเฮอร์ริเคนระดับ 4-5 ว่าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ภายในศตวรรษนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1851 จนถึงปัจจุบัน มีพายุไม่ถึง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีความรุนแรงถึงระดับดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อพายุอย่างไรอีกบ้าง

ช่วงฤดูกาลเฮอร์ริเคนตามปกติกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ในแต่ละปีมีช่วงเดือนที่สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การก่อตัวของพายุเพิ่มมากขึ้น และพายุเฮอร์ริเคนยังพัดขึ้นฝั่งในจุดที่ห่างจากบริเวณที่เคยเผชิญพายุเฮอร์ริเคนอยู่เดิมเป็นประจำอีกด้วย

ในสหรัฐฯ ฟลอริดาเป็นรัฐซึ่งเผชิญพายุเฮอร์ริเคนพัดขึ้นฝั่งมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 1851 มีพายุเฮอร์ริเคนพัดขึ้นฝั่งโดยตรงแล้วมากกว่า 120 ลูก จากข้อมูลของ NOAA แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พายุบางลูกทวีความรุนแรงถึงขั้นสูงสุดและพัดขึ้นฝั่งในพื้นที่ทางตอนเหนือ ห่างจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พายุขยับเข้าใกล้ขั้วโลกมากขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของอากาศและมหาสมุทรของโลก

แนวโน้มนี้นับว่าน่าวิตกกังวลสำหรับเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ในช่วงละติจูดกลางอย่างนิวยอร์ก บอสตัน ปักกิ่งและโตเกียว ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับพายุในลักษณะนี้

พายุเฮอร์ริเคน Sandy ที่แม้จะเป็นเพียงพายุระดับที่ 1 แต่ก็สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ตามสถิติของสหรัฐฯ สร้างความสูญเสียคิดเป็นมูลค่า 81,000 ล้านเหรียญ หลังจากพัดถล่มแถบระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี 2012

ส่วนในเรื่องของช่วงเวลา พายุเฮอร์ริเคนในแถบอเมริกาเหนือมักจะพบได้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน โดยอาจจะพบได้มากที่สุดในช่วงเดือนกันยายน หลังผ่านพ้นช่วงฤดูร้อนที่ทำให้น้ำอุ่นขึ้น

อย่างไรก็ตามพายุเฮอร์ริเคนที่พัดขึ้นฝั่งแผ่นดินสหรัฐฯ ในปัจจุบันเกิดขึ้นเร็วกว่าในช่วงปี 1900 ถึง 3 สัปดาห์ ทำให้ช่วงฤดูกาลเฮอร์ริเคนขยับไปเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อเดือนสิงหาคม

ดูเหมือนว่าแนวโน้มเดียวกันนี้จะปรากฏขึ้นทั่วโลก รวมถึงในอ่าวเบงกอล ที่ซึ่งตั้งแต่ปี 2013 พายุไซโคลนก่อตัวขึ้นเร็วกว่าปกติในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ก่อนฤดูมรสุมช่วงฤดูร้อน ตามการศึกษาใน Scientific Reports เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อจำนวนพายุเฮอร์ริเคนที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละปีหรือไม่ คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเพิ่งจะรายงานการค้นพบความถี่ในการก่อตัวของพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ว่าเพิ่มมากขึ้นในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาของพวกเขาซึ่งตีพิมพ์ใน Nature Communications เมื่อเดือนธันวาคม แต่ว่างานวิจัยนี้ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

พายุเฮอร์ริเคนก่อตัวอย่างไร

พายุเฮอร์ริเคนต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 อย่าง คือ น้ำในมหาสมุทรที่อุ่นและอากาศที่เต็มไปด้วยความชื้น เมื่อน้ำทะเลที่อุ่นระเหย พลังงานจากความร้อนจะถูกส่งไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลให้ลมพายุมีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่มีองค์ประกอบนี้พายุเฮอร์ริเคนจะไม่สามารถทวีความรุนแรงขึ้นได้และจะสลายไปในที่สุด

ไซโคลน ไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคนต่างกันอย่างไร

ในทางเทคนิคแล้วสิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์เดียวกัน แต่พายุรุนแรงเหล่านี้มีชื่อเรียกต่างกันตามตำแหน่งที่ก่อตัวและวิธีการก่อตัว

พายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกหรือในพื้นที่ตอนกลางและทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือจะถูกเรียกว่าพายุเฮอร์ริเคนเมื่อความเร็วลมเพิ่มสูงขึ้นเกิน 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าความเร็วลมน้อยกว่านั้นจะถูกเรียกว่าพายุโซนร้อน

ส่วนในเอเชียตะวันออก พายุหมุนที่มีความรุนแรงซึ่งก่อตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกจะถูกเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น ขณะที่พายุไซโคลนจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ที่มา https://www.reuters.com/business/environment/how-climate-change-is-fueling-hurricanes-2022-09-20/

แชร์