Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

กำแพงกันคลื่นในเมืองไทย ดีจริงหรือ?

กระแสกำแพงกันคลื่น กำลังได้รับความสนใจ หลังจากในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เริ่มพบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น กระจายไปยังหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะล่าสุด ที่ปรากฎภาพกำแพงกันคลื่นตามชายหาดท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น หาดชะอำ และ หาดปราณบุรี ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วน ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงว่าโครงสร้างวิศวกรรมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะเข้าไปแทนที่หาดทราย ส่งผลต่อทัศนียภาพเดิมในอดีต ประกอบกับขณะนี้เริ่มพบปัญหากำแพงที่สร้างไปแล้วพังเสียหาย รวมถึงยังทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงที่บริเวณด้านหัวและท้ายของโครงสร้าง ทำให้ต้องมีการก่อสร้างไปอย่างไม่รู้จบ

แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว กำแพงกันคลื่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่โครงการดังกล่าวทยอยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี และยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังมีการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินการของรัฐ สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที เมื่อปี 2556 

วันนี้ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ขอชวนสำรวจโครงสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศว่าปัจจุบันมีการก่อสร้างไปแล้วกี่จังหวัด และพื้นที่ไหนที่มีโครงสร้างดังกล่าวมากที่สุด ขณะเดียวกันยังชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการผ่านตัวเลขงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างโครงการที่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถาวร ซึ่งจุดนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า หากกำแพงกันคลื่นสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดจริง เหตุใดตัวเลขงบประมาณจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี?

จากการตรวจสอบแนวโน้มงบประมาณ เฉพาะของกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังกรมเจ้าท่า เพิกถอน กำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ในปี 2556 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความง่าย และคล่องตัวในการทำงานแก้ไขปัญหาของรัฐ พบว่ามูลค่างบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ระหว่างปีละประมาณ 70 – 170 ล้าน แต่ในช่วง 9 ปีหลังพบตัวเลขไต่ระดับขึ้น เฉพาะปี 2564 พบงบประมาณการก่อสร้างสูงถึง 1,262.72 ล้านบาท ส่วนปี 2565 งบประมาณอยู่ที่ 931.10 ล้านบาท จุดนี้ นักวิชาการจึงตั้งคำถามว่าหากกำแพงกันคลื่นสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หรือ ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปได้ เหตุใดจึงต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
เมื่อติดตามงบประมาณภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ พบกรมโยธาธิการ กลายเป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อสร้าง โดยกรมเจ้าท่า ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีบุคลากร และครื่องจักรเพียงพอ จึงขอให้โยธามาร่วมทำงาน

ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง สัดส่วนงบประมาณ ถูกแบ่งดังนี้
ปี 2563 งบประมาณโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทะเล 1,447.43 ล้านบาท พบร้อยละ 61 อยู่ในมือของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ คิดเป็นเงิน 888.283 ล้านบาท ส่วนอีก ร้อยละ 39 หรือ 559.142 ล้านบาท ถูกจัดสรรให้เป็นของกรมเจ้าท่า
ปี 2564 งบประมาณโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทะเล 1,735.48 ล้านบาท พบร้อยละ 72.7 อยู่ในมือของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ คิดเป็นเงินกว่า 1,261 ล้านบาท ส่วนอีก ร้อยละ 24.73 หรือกว่า 429 ล้านบาท ถูกจัดสรรให้เป็นของกรมเจ้าท่า นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 2.57 คิดเป็นเงินประมาณ 44 ล้านบาท ถูกกระจายไปยังหน่วยงานอย่างกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง
ปี 2565 งบประมาณโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทะเล 1,378.74 ล้านบาท พบร้อยละ 68 อยู่ในมือของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ คิดเป็นเงินกว่า 931 ล้านบาท ร้อยละ 29 หรือกว่า 405 ล้านบาท ถูกจัดสรรให้เป็นของกรมเจ้าท่า ส่วนอีกร้อยละ 3 คิดเป็นเงินประมาณ 42 ล้านบาท ถูกกระจายไปยังหน่วยงานอย่างกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว นักวิชาการ ระบุว่า ร้อยละ5 จากงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง ถูกนำไปใช้สร้างกำแพงกันคลื่น ในแต่ละโครงการ เมื่อนำมาคิดค่าเฉลี่ยจะพบว่า มูลค่างบประมาณที่ใช้ไปสูงถึงกิโลเมตร 100 ล้านบาท

แชร์