
…ทำไมต้องยกเลิกการทำ EIA โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น….
⁃ จากกรณีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 34 และ วันที่ 13 ก.พ. 39 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่ง อีกทั้ง ในปี 2556 ยังเพิกถอน กำแพงกันคลื่น ออกจากกิจการหรือโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการประกาศเพิกถอน กำแพงกันคลื่น ออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ส่งผลให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงขาดการตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องของโครงการ นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง อาศัยช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดในประเทศไทยจนเกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นอันเป็นเหตุให้ชายหาดไทยถูกทำลายจนอยู่ในภาวะวิกฤตโดยเฉพาะ หาดท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่ต้องดำรงไว้

….งบเพิ่มขึ้นแต่ปัญหากัดเซาะชายฝั่งไม่ลดลง…
⁃ กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย ได้รวบรวมข้อมูลการใช้งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น 125 โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย รวมพบการใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,487,071,100 บาท โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 1,792,171,000 บาท ส่วนกรมโยธาธิการฯดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น 107 โครงการใช้งบประมาณ 6,694,899,400 บาท รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการ 70.413 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง จากตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนที่กรมโยธาธิการฯเข้าไปดำเนินโครงการ และนี่เป็นที่มาที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน ต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาผ่านการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องเพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และงบประมาณถูกจัดสรรไปใช้แก้ปัญหาการกัดเซาะอย่างตรงจุด

…ข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์ 3 ข้อหลัก…
1.ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยกเลิกมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2534 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
2.ขอคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
3.ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม

…EIA คืออะไร…
EIA ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment Report หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการ โดยพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯกำหนดให้โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study) และการออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่แท้จริงโครงการที่แม้จะมีผลกำไรหรือความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างสูงแต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้ไม่คุ้มทุน

ข้อดีของ EIA คือ ช่วยหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารหรือผู้ประกอบการว่าสมควรดำเนินโครงการนั้นต่อหรือไม่ การทำ EIA จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการวางแผนป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมของโครงการและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว โดยในรายงาน EIA จะมีการกำหนดมาตรการป้องกัน และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญของรายงานอีกด้วย

สำหรับประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย
– เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 100,000,000 ลบ.ม.ขึ้นไปหรือมีพื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป
– การชลประทานตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป
– สนามบินพาณิชย์ทุกขนาด
– โรงแรมหรือที่พักตากอากาศที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งทะเลทะเลสาบหรือชายหาดหรืออยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ 80 ห้องขึ้นไป
– ระบบทางพิเศษทุกขนาด
– การทำเหมืองแร่ทุกขนาด
– นิคมอุตสาหกรรมทุกขนาด
– ท่าเรือพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป
– โรงไฟฟ้าพลังความร้อนตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป
– การอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 100 ตันต่อวันขึ้นไป
– โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมทุกขนาด
– โรงแยกแก๊สทุกขนาด
– อุตสาหกรรมคลอ–อัลคาไลน์ที่ใช้ NaCl เป็นวัตถุดิบในการผลิต Na2CO3, NaOH, HCl, Cl2, NaOCl และปูนคลอรีน 100 ตันต่อวันขึ้นไป
– อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า 100 ตันต่อวันขึ้นไป
– อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทุกขนาด
– โรงถลุงหรือหลอมโลหะ 50 ตันขึ้นไป
– อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ 50 ตันต่อวันขึ้นไป
– การจัดสรรที่ดินเกินกว่า 100 ไร่หรือ 500 แปลง
– โรงพยาบาลขนาด 60 เตียงยกเว้นที่ตั้งริมแม่น้าฝั่งทะเลทะเลสาบชายหาดขนาด 30 เตียง
– การถมที่ดินในทะเลทุกขนาด

EIA มีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ระยะคือ
– กลั่นกรองโครงการว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับใด
– กำหนดขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้ที่ได้รับผลกระทบหน่วยงานของรัฐและผู้ดำเนินโครงการ
– การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน (ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ, ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ, คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต