เครื่องหมายอัศเจรีย์

มุมมองนักวิชาการ  กับ กำแพงกันคลื่น ที่ต้องทำ EIA เพราะเป็นโครงการผลาญงบ

กำแพงกันคลื่น

ทะเล นิยามในภาพจำของใครหลายคนที่อาจมีองค์ประกอบหลักๆคือหาดทรายสายลมแสงแดดและเสียงคลื่นแต่ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์แพร่ระบาดของ กำแพงกันคลื่น ทั่วประเทศโดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญเช่นหาดชะอำและหาดปราณบุรี นั่นทำให้ภาพจำของทะเลในสายตาของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไปเพราะหลังปรากฎโครงสร้างดังกล่าวทำให้หาดทรายที่เคยสวยงามถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่ปกคลุมไปด้วยตะไคร้น้ำสีเขียวและลื่น (เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว) บางหาดมีซากปรักหักพังของ กำแพงกันคลื่น ที่เสียหายที่สำคัญคือเมื่อมีกำแพงกันคลื่นจะทำให้เกิดการม้วนตัวของคลื่นหน้ากำแพงและพัดพาเอาทรายออกไปทำให้หาดทรายที่ในอดีตเคยทอดยาวสุดลูกหูลูกตาในช่วงฤดูที่ไม่มีมรสุมหายไปอย่างถาวร

กำแพงกันคลื่น 1

ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่เปราะบางและมีพลวัตสูงที่สุดในโลกความหมายคือมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไปอย่างไม่หยุดนิ่งและหากปรากฎสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลได้โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีภาวะวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change เข้ามาเป็นปัจจัยเสริม นั่นทำให้กระบวนการชายหาดที่นักวิชาการเคยวิเคราะห์หรือคาดคิดไว้อาจเปลี่ยนไปจากเดิมในอดีตจึงทำให้การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทุกชนิด มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยขั้นตอนการศึกษาที่รอบด้านและต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ในช่วงปี 2556 กลับมีการถอดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำEIA เป็นที่มาที่ทำให้ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์แพร่ระบาดของกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ 

ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายความจำเป็นที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องจัดทำ EIA ไว้ 2 ประเด็น

  • ประเด็นแรก มองว่า การทำ EIA ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าโครงสร้างเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสภาพแวดล้อม แต่สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสามารถยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมีโครงสร้างได้หรือไม่ 
  • อีกประเด็นคือ ภาครัฐได้มีความพยายามที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งกระบวนการทำ EIA  ต้องจัดทำอย่างเข้มข้นมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาจะพบว่าหากไม่มีการจัดทำ EIA ก็จะเป็นช่องว่างที่ทำให้ประเด็นหลักทั้ง 2 ข้อ ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ หรือสภาพบังคับทางกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มากนัก อนึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นหลักประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐที่ดี เพราะปัจจุบันจะเห็นว่าแม้จะมีบางโครงการที่ต้องมีขั้นตอนการจัดทำEIAอยู่แล้ว แต่ก็ยังปรากฎขั้นตอนที่บิดเบี้ยว ดังนั้นจะนับประสาอะไรกับโครงการที่ไม่ต้องจัดทำEIA ว่ากระบวนการที่บิดเบี้ยวและไม่สามารถตรวจสอบได้แค่ไหน และนั่นเป็นที่มาที่ทำให้ภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหว
กำแพงกันคลื่น 2
…แล้วแนวทางไหนดีที่สุดในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง?

นี่เป็นคำถาม? …ที่นักวิชาการและหน่วยงานรัฐต้องหาคำตอบ โดยจะต้องวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมและตัวแปรที่เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบที่ได้ ไม่น่าจะใช่ คำตอบเดียวกันในทุกโจทย์ เพราะแต่ละพื้นที่ มีสภาพแตกต่างกัน แต่จะเห็นว่าขณะนี้ กรมเจ้าท่า และ กรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามยัดเยียดคำตอบเดิม ๆ ให้กับโจทย์ทุกข้อ ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาได้จริง งบประมาณที่นำมาใช้ควรจะลดลงได้แล้ว แต่หากตรวจสอบจะพบว่าแนวโน้มงบประมาณที่นำมาใช้ในการสร้างกำแพงกันคลื่นกลับเพิ่มขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปรียบเทียบแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งว่าคล้ายกับอาการป่วยที่ต้องกินยาตามแต่ละระดับ เริ่มจากยาอ่อน แต่หากไม่หายจึงค่อยปรับเป็นยาแรง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังเลือกใช้อยู่ เพราะพวกเขามักใช้ยาแรงเข้าไปทันทีโดยไม่ตรวจสอบอาการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการปักไม้ชะลอคลื่น หรือ วางถุงทรายขนาดใหญ่ ที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราว เมื่อถึงฤดูมรสุม หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องเริ่มดำเนินการ และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลกัดเซาะหน่วยงานท้องถิ่นก็จะต้องนำโครงสร้างเหล่านี้ออกไป วิธีนี้เป็นจุดอ่อนที่รัฐมองและชอบอ้างว่าเป็นวิธีที่ต้องทำต่อเนื่อง สร้างความลำบากให้กับหน่วยงานท้องถิ่น แต่จากการคำนวน งบประมาณการทำโครงการปักไม้ชะลอคลื่น ของเทศบาลเมืองม่วงงาม จ.สงขลา พบว่าโครงการนี้ไม่ได้ทำทุกปี คือ ในปี 2560 ใช้งบประมาณ  552,660 บาท  , ปี 2561 ใช้งบประมาณ 127,400  ปี 2562 ไม่มีการจัดทำเพราะไม่มีการกัดเซาะ  และปี 2563 ใช้งบประมาณ 39,000 บาท รวม 4 ปี ใช้งบประมาณ 719,060 บาท

กำแพงกันคลื่น 3

เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามระยะทางประมาณ 2.6 กม. ที่มีมูลค่ารวม 226 ล้านบาท จะเห็นว่า ถ้านำเงินงบประมาณจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเปลี่ยนมาเป็นวิธีปักไม้ชะลอคลื่น จะสามารถดำเนินโครงการต่อเนื่องได้ถึง 409 ปี

การจะเปรียบเทียบเพื่อหาคำตอบวิธีที่ดีสุดในมุมมองของนักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ จึงมองว่าไม่ควรนำเรื่องปัจจัยความลำบากของหน่วยงานมาเป็นตัวตั้ง แต่ควรเอาผลลัพธ์ด้านความคุ้มค่าขอเงินภาษีประชาชนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นประเด็นหลักมากกว่า อีกทั้งเมื่อนำข้อเท็จจริงเรื่องวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change มาร่วมวิเคราะห์ จะเห็นชัดเจนว่า ทุกภัยพิบัติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มาตรการที่เหมาะสม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจไม่เหมาะสม เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง การสร้างโครงสร้างที่มีลักษณะคงทนถาวร จึงอาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ระยะนี้เริ่มเห็นการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเกี่ยวกับเรื่องกำแพงกันคลื่นมากขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าการต่อสู้เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา แต่ก็รู้สึกดีใจเพราะหากมองย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีก่อนกระแสกำแพงกันคลื่นยังอยู่ในวงจำกัดแค่กลุ่มนักวิชาการเฉพาะด้าน แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้แล้ว….” 

ผศ.สมปรารถนา กล่าวในฐานะ 1 ในผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลาหลายปี 

ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

แชร์