
ระดับความเข้มข้นของ ก๊าซเรือนกระจก และระดับน้ำทะเลทั่วโลกทำสถิติสูงสุดในปี 2021 ตามการรายงานข้อมูลโดยหน่วยงานจากสหรัฐฯสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องแม้ทั่วโลกจะพยายามลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก
Rick Spinrad จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและเรากำลังได้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในระดับโลกและยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง หลายพื้นที่ในโลกเผชิญน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบพันปี เกิดภัยแล้งที่รุนแรงเป็นพิเศษและความร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนว่าวิกฤตสภาพอากาศไม่ใช่ภัยคุกคามแห่งอนาคตแต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขทันที

โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในปีที่ผ่านมาการปล่อยก๊าซเสียจากพลังงานฟอสซิลจะลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็ตาม
นอกจากนี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติยังพบว่าในปี 2021 ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 414.7 ส่วนต่อล้านส่วน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 จำนวน 2.3 ส่วน ซึ่งตัวเลขของปี 2021 นี้จัดว่าสูงที่สุดในรอบอย่างน้อยหลายล้านปี โดยอ้างอิงจากข้อมูลภูมิอากาศบรรพกาล หรือการศึกษาภูมิอากาศในสมัยโบราณ
ส่วนระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 10 และสูงกว่าระดับเมื่อปี 1993 ถึง 97 มิลลิเมตร ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่มีการตรวจวัดโดยใช้ดาวเทียมเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ปี 2021 ยังจัดเป็นปีที่อากาศอบอุ่นมากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 6 ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งทุกๆ ปีตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมายังถือว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
ส่วนปรากฏการณ์ด้านอุณหภูมิที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่ากับเหตุการณ์อื่นส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งทำให้น้ำเย็นลงและเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในมหาสมุทรแปซิฟิก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2022 และทำให้เดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้เป็นเดือนกุมภาพันธ์ที่หนาวเย็นที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014
ขณะเดียวกันอุณหภูมิของน้ำยังติดอันดับด้วย ทะเลสาบหลายแห่งโดยเฉพาะในทิเบตมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ซึ่งทะเลสาบเหล่านี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำขนาดใหญ่หลายสายในทวีปเอเชีย

พายุโซนร้อนซึ่งคาดว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้นนั้นยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2021 ทั้งไต้ฝุ่นราอีซึ่งคร่าชีวิตคนร่วม 400 คนในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนธันวาคม และพายุไอดาที่ถล่มแถบแคริบเบียนก่อนจะกลายเป็นเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดอันดับสองที่พัดถล่มรัฐลุยเซียนา รองจากเฮอร์ริเคนแคทรีนา
นอกจากนี้ในรายงานนี้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่น่าจับตามองอื่นๆ เช่น ต้นซากุระในเกียวโตที่ออกดอกเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 1409

ส่วนไฟป่าที่คาดว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับดูไม่รุนแรงเท่ากับช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ดีไฟป่ายังคงสร้างความเสียหายหนักทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และในแถบไซบีเรีย
รายงานประจำปี 2021 นี้เผยแพร่ออกมาเพียงไม่กี่วันหลังจากมีการเปิดเผยผลการศึกษาว่าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์จะละลายมากขึ้นจนถึงระดับอันตรายแม้ว่าโลกจะไม่ได้มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีกเลยก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อที่ลุ่มต่ำทั่วโลกที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนหลายร้อยล้านคน

ขณะที่ในปัจจุบันโลกยังห่างไกลจากเป้าหมายของข้อตกลงปารีสด้านสภาพอากาศที่จัดทำเมื่อปี 2015 ที่ตั้งเป้าจำกัดไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงจากปัญหาโลกร้อน
เรียบเรียงจาก https://www.france24.com/en/live-news/20220831-greenhouse-gas-sea-levels-at-record-in-2021-us-agency