จากกรณีพบซากเต่าตนุ (Chelonia mydas) ขนาดกระดองกว้าง x ยาว (90 x 96.5 cm.) เพศเมีย อายุประมาณ 20 ปี ลอยเกยตื้นที่บริเวณริมหาดกินรี (หาดขลอด) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย เบื้องต้น ไม่พบบาดแผลภายนอก ลำตัว, อวัยวะหลายส่วนเริ่มเน่าสลาย, ภายในระบบทางเดินอาหารพบ อาหารจำพวก สาหร่ายทะเล แมงกะพรุน ไข่ปลา และยังพบ ขยะทะเล รวมถึงสิ่งแปลกปลอมภายในระบบทางเดินอาหารจำนวนมาก เช่น หมุด ตะปูจากกระทง อวน เชือกไนล่อน และ แผ่นพลาสติก อุดตันในลำไส้

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เกี่ยวกับประเด็นนี้ระบุว่า ที่ผ่านมากรมฯ มีความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหา ขยะทะเล มาโดยตลอดไม่เพียงเฉพาะแต่เรื่องของกระทงเท่านั้น เพื่อเดินตามเป้าหมายว่าจะลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 ซึ่งภาพรวมการแก้ปัญหาใหญ่มองว่าจะสามารถทำได้ หากมีการปลูกฝังให้ประชาชนทุกคนและหน่วยงานระดับท้องถิ่นหันมาให้ความสำคัญ รณรงค์ให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดกระบวนการคัดแยกขยะ
ส่วนประเด็นของกระทงนั้น มองว่าประเทศไทยยังมีค่านิยมที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น วิธีการจะแก้ไขคือต้องปรับแนวคิด (Mindset) ของประชาชนให้หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นเองก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องร่วมรณรงค์คือ ควรปรับแนวทางการจัดกิจกรรมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บขยะ หรือหาแนวทางสกัดกั้นขยะไม่ให้ลงทะเลมากที่สุด

นอกจากนี้ผู้ประกอบการหรือผู้ค้ากระทงยังควรหันมาใช้วัสดุทำกระทงที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแนวคิดว่าในประเพณีลอยกระทงหลังจากนี้ ควรมีการกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์โลก โดยจัดกิจกรรม ลอยแล้วเก็บ คือ เมื่อประชาชนถ่ายรูปหรือลอยเสร็จแล้ว ก็ยกกระทงเก็บออกไปทิ้งทันที ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาลักษณะนี้
สำหรับการศึกษาไมโครพลาสติกโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบันมีสถานีติดตามตรวจสอบปริมาณไมโครพลาสติกในน้ำทะเลแบบระยะยาว นานกว่า 30 สถานี ซึ่งก็ทำให้ทราบปริมาณของไมโครพลาสติก

สำหรับไมโครพลาสติก มีอยู่ 2 ประเภท คือ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastics) พลาสติกขนาดเล็กที่เกิดจากการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น ถุงพลาสติก เศษอวน เศษเส้นใยเสื้อผ้า และ ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastics) พลาสติกที่ผลิตให้มีขนาดเล็ก เช่น เม็ดพลาสติกก่อนำไปหลอมขึ้นรูป หรือผลิตเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย มีชื่อทางการค้าว่า “ไมโครบีดส์”
ทั้งนี้การศึกษางานวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกสามารถถูกขับออกจากร่างกายของมนุษย์ได้ผ่านทางระบบขับถ่าย แต่ก็มีรายงานการพบนาโนพลาสติกตกค้างในเลือดและบางอวัยวะของมนุษย์เช่นกัน นอกจากนี้ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกมีความสามารถในการดูดซับและปล่อยสารพิษได้ดีมาก จนมีชื่อเรียกว่า “ค็อกเทลสารพิษ”
อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถบอกถึงระดับความอันตรายของไมโครพลาสติกที่ชัดเจนได้ เนื่องจากไมโครพลาสติกมีชนิด ขนาด และการตกค้างในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงทำให้การดูดซึมและการปล่อยสารเคมีที่เหลืออยู่ต่างกันออกไป
