เครื่องหมายอัศเจรีย์

ขยะพลาสติก แพร่เชื้อโรคจากบกสู่ทะเล

จากข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า มีเชื้อโรคสามอย่าง ได้แก่โปรโตซัว ท็อกโซพลาสมา กอนดี (Toxoplasma gondii), คริปโตสปอริเดียม(Cryptosporidium spp.) และ ไกอาร์เดีย (Giardia) ที่สามารถปนเปื้อนสู่สัตว์ทะเลจากการเดินทางของขยะพลาสติก ซึ่งเชื้อโรคแต่ละชนิด จะทำให้เกิดโรคที่แตกต่างกันไป  เช่นโปรโตซัว ท็อกโซพลาสมา กอนดี สามารถทำให้หญิงตั้งครรภ์แท้งบุตรหรือทำให้ทารกในครรภ์เกิดโรคทางระบบประสาท

คริปโตสปอริเดียมและไกอาร์เดีย ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารที่อาจทำให้เด็กเล็กและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเสียชีวิต สำหรับกรณี โปรโตซัวอาจเป็นตัวแพร่กระจายในสัตว์ทะเลจนทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไป ไม่ว่าจะเป็น นากทะเล โลมาเฮคเตอร์ หรือแมวน้ำมังค์ฮาวาย

นอกจากนี้ ปรสิตจำนวนมากสามารถเกาะติดอยู่กับไมโครพลาสติก และสามารถเพิ่มจำนวนของมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปอย่างไรก็ตาม วิธีการแพร่กระจายแย่ที่สุด โรคภัยต่างๆ ที่หลุดลอยไปยังสามารถย้อนกลับมาสู่สังคมมนุษย์ได้อีกหน

ด้านนายเพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ขยะพลาสติกปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤติ จากเดิมเคยมีขยะพลาสติกปีละประมาณ 300 ล้านตันต่อปี แต่ขณะนี้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงถึงกว่า 400 ล้านตันต่อปี 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ขยะพลาสติก มีแนวโน้มทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ เนื่องจากพื้นผิวของพลาสติกสามารถกักเก็บเชื้อโรคได้จำนวนมาก เมื่อเกิดการปนเปื้อนลงสู่ทะเล แล้วสัตว์ทะเลเกิดไปบริโภค หรือสัมผัสขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านั้น ก็อาจทำให้สัตว์ทะเลตายได้ 

และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหากเกิดกับสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะ พะยูน หรือ วาฬ ขณะเดียวกันจากผลวิจัยยังพบว่าหากขยะพลาสติกไปติดอยู่กับปะการังใต้ท้องทะเล จะส่งผลให้ปะการังเหล่านั้น ติดเชื้อ เป็นโรคด่างขาว(White band Disease)และ โรควงดำ (Black band Disease) ค่อยๆ กัดกินเนื้อเยื่อของปะการังมากกว่าปะการังที่ไม่มีขยะพลาสติกมาสัมผัส ถึง 20 เท่า 

ส่วนกรณีของมนุษย์เชื่อว่าหากมีปริมาณของเชื้อโรคปนเปื้อนไปกับขยะพลาสติกลงสู่ทะเลจำนวนมาก แล้วมีสัตว์ทะเลในกลุ่มที่มนุษย์นำมาบริโภคไปสัมผัสหรือรับเชื้อโรคมา ก็อาจทำให้มนุษย์ที่ไปสัมผัสกับสัตว์ทะเลเหล่านั้นโดยตรง อย่างชาวประมงหรือ ผู้ที่ซื้อนำไปรับประทานต่อโดยไม่ผ่านการปรุงสุกก่อน ได้รับเชื้อโรคและแบคทีเรียต่อมาอีกทอดและเกิดผลกระทบกับสุขภาพ

อ้างอิง : https://www.iflscience.com/health-and-medicine/diseasecausing-parasites-can-hitch-a-ride-on-plastics-and-potentially-spread-through-the-sea-new-research-suggests/

แชร์