เครื่องหมายอัศเจรีย์

ขอนแก่น เปิดคลาส “ภัยพิบัติศึกษา ”กระตุ้นครู เตรียมเด็กรับมือ “โลกเดือด ”

12 พฤศจิกายน 2566

“ขอนแก่น ไม่เคยเจอแผ่นดินไหว ไม่มีภูเขาไฟระเบิด และคลื่นยักษ์สึนามิ ทำไม พวกหนูต้องเรียนวิชาพวกนี้” คุณครูหลายคนสะท้อนปัญหาการจัดการเรียนการสอนภัยพิบัติในวิชาพื้นฐานระดับประถมศึกษาที่พวกเขาเจอมาตลอด

แม้จะรู้ถึงความสำคัญของการให้เด็กเรียนรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และมีความพยายามของคุณครูในการจัดการเรียนสอนด้วยการใช้สื่อทันสมัย เช่น เปิดคลิปเหตุการณ์ต่างๆ ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น แต่พอเข้าสู่เนื้อหาแต่ละหัวข้อ นักเรียนส่วนใหญ่ก็จะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

“ถ้าเปิดหนังสือเรียนชั้นประถมศึกษา ภัยพิบัติแต่ละภัยจะแยกกันอยู่คนละหัวข้อ มีเนื้อหาสาระเฉพาะ เด็กๆ ต้องเรียนเนื้อหาแต่ละหัวข้อภายใต้ระยะเวลาสั้นๆ แต่ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ ชั้นประถม คือ เรียนรู้ผ่านเรื่องเล่า ผ่านตัวละคร และเหตุการณ์ที่มีชีวิตชีวา เราคุยกับทีมศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ว่า น่าจะชวนคุณครูทดลองใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศมาออกแบบการจัดการเรียนการสอน ให้เหมือน ซีรีย์ ตั้งแต่ EP.แรกที่เปิดตัว จนถึง EP.สุดท้าย” นายสันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้จัดการฯ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ (DXC),ไทยพีบีเอส เล่าที่มาในการใช้กรณีศึกษา “ภูเขาไฟกรากาตัว” ประเทศอินโดนีเซีย มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเรียนรู้ ภายใต้โครงการภัยพิบัติศึกษาในโรงเรียน

วันเปิดคลาสภัยพิบัติศึกษาขอนแก่น ครั้งแรก ณ โรงเรียนเทศบาลกุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีการสาธิตการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษา (Case-based Learning) “กรากาตัว” จำนวน 2 EP. จาก 5 EP.ที่คุณครูต่างประเทศใช้ คือ EP.1 รู้จักฉันรู้จักเธอ และ EP.2 เรียนรู้ 140 ปีกรากาตัวปะทุ โดยมีนักเรียน คณะครูและผู้บริหารจาก 6 โรงเรียนนำร่องใน 3 อำเภอ และคณะทำงาน จำนวน 92 คน เข้าร่วม

ด.ช.ธีภพ ประกอบกิจ นร.ชั้น ป.5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก บอกว่า การเรียนรู้จากเหตุการณ์ “กรากาตัว” เป็นกิจกรรมสนุก ทำให้เข้าใจว่า การปะทุของภูเขาไฟ แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ มีความเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ ด.ญ.กาญจนา ปุริสาร นร.ชั้น ป.5 โรงเรียนมหาไถ่ บอกว่า กิจกรรมนี้มีทั้งการเรียนเนื้อหาและซ้อมหนีภัยจากแผ่นดินไหว ทำให้เข้าใจภัยพิบัติได้มากขึ้นกว่าการเรียนแบบเดิม

นางกรรณิกา ชาหยอง รอง ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 4 กล่าวว่า ภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กนักเรียนมากๆ การป้องกันและลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด คือ การให้เด็กได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ช่วงที่ตนทำงานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เห็นบทบาทของไทยพีบีเอสในการทำงานสร้างการเรียนรู้และสื่อสารด้านมลพิษ PM 2.5 โครงการภัยพิบัติศึกษาในโรงเรียน เป็นโครงการนำร่องในการจัดการเรียนรู้และสร้างหลักสูตรด้านภัยพิบัติในชั้นเรียน โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนา “คุณครูแกนนำ” ให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน

การสรุปบทเรียนหลังกิจกรรม วันเปิดคลาส ตัวแทนคณะครู 6 โรงเรียนนำร่อง จะร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษา “เหตุภูเขาไฟกรากาตัว” มาจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค.2566 พร้อมสำรวจความเป็นได้ในการใช้เหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศไทย เช่น เหตุถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน หรือเหตุการณ์อื่นๆ ในอดีต มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับหัวข้อต่างๆ ที่อยู่ในแบบเรียน

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการพัฒนา “หลักสูตรเสริม” เป็นภัยเฉพาะในท้องถิ่น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ถูกนิยามใหม่จาก โลกร้อน เป็น โลกเดือด เช่น ภัยจากฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องปรับเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้จากโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.

การเพิ่มเติมหลักสูตรแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์ กับ สัตว์ป่า เพื่อลดความเสี่ยงของนักเรียนและคุณครู โรงเรียนบ้านผาน้ำเที่ยง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ที่ต้องเผชิญหน้ากับฝูงลิง 2 ฝูง และช้างป่า โดยมี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) มาร่วมเป็นภาคี

“โครงการภัยพิบัติศึกษาในโรงเรียน” เป็นความร่วมมือ ระหว่าง ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ (DXC) ,ไทยพีบีเอส กับโรงเรียนใน 3 สังกัด ทั้งรัฐ ท้องถิ่น และเอกชน และหน่วยงานภาคีใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น จ.เชียงราย และ จ.สงขลา

แชร์