เครื่องหมายอัศเจรีย์

ข้อตกลง COP15 ได้รับการชื่นชมว่าเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

ผู้นำชนพื้นเมืองต่างชื่นชมความก้าวหน้าครั้งสำคัญในสนธิสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรองเมื่อเช้าวันจันทร์ในเมืองมอนทรีออล เนื่องจากเป้าหมายหลักที่จะให้การปกป้องพื้นที่อย่างน้อย 30% ของโลกภายในปี 2030 นั้นมีระบุถึงการยอมรับในสิทธิในผืนดินของชนพื้นเมืองอย่างชัดเจน บรรดาตัวแทนชนพื้นเมืองที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด COP15 ของสหประชาชาติกล่าวว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องชุมชนจากผลกระทบของอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติและความพยายามในการอนุรักษ์ที่ผ่านมาในอดีตซึ่งขับไล่ชนพื้นเมืองออกจากดินแดนดั้งเดิมของพวกเขา

“ตอนนี้พวกเขาตระหนักแล้วว่าชนพื้นเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้เช่นกัน” Viviana Figueroa ตัวแทนของ International Indigenous Forum on Biodiversity (IIFB) กล่าว

“สำหรับเราแล้ว มันเหมือนกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์” เธอกล่าว “ตอนนี้พวกเขาตระหนักถึงบทบาทสำคัญนี้ซึ่งเคยถูกมองข้ามมาตลอด”

บรรดาผู้แทนเห็นพ้องตามกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก คุนหมิง-มอนทรีออล หลังจากใช้เวลาเจรจานานถึง 2 สัปดาห์ รวมถึงเป้าหมายการอนุรักษ์ “30 คูณ 30” เพื่อปกป้องผืนดิน ผืนน้ำในแผ่นดิน และพื้นที่ทางทะเล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ความเสียหายจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การทำไร่สวนและการประมงเชิงอุตสาหกรรม เป็นภัยคุกคามที่กำลังทำให้พันธุ์พืช แมลง และสัตว์มากถึงหนึ่งล้านชนิดอาจต้องสูญพันธุ์ จากข้อมูลในรายงานปี 2019 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ

ชุมชนพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการปกป้องธรรมชาติ เนื่องจากที่ดินของพวกเขาเป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์พืชและสัตว์ประมาณ 80% ของพันธุ์พืชและสัตว์ที่ยังคงเหลืออยู่บนโลก ตามข้อมูลของธนาคารโลก

การไม่สามารถตกลงกันได้ในด้านการเงินเกือบจะทำให้การพูดคุยดังกล่าวต้องเป็นอันยุติ แต่การเจรจาต่อรองในนาทีสุดท้ายทำให้เกิดข้อตกลงที่มีมูลค่าอย่างน้อย 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 จากประเทศร่ำรวยเพื่อเป็นทุนสนับสนุนความพยายามที่จะปกป้องธรรมชาติในประเทศกำลังพัฒนา

ความกลัวต่อการขับไล่

สิทธิของชนพื้นเมืองถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสามของเป้าหมายของสนธิสัญญาใหม่ฉบับนี้ แต่เป้าหมายที่สามเรื่อง “30 คูณ 30” ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์พื้นที่คุ้มครองทำให้ชุมชนพื้นเมืองต้องพลัดถิ่นออกจากผืนดินของพวกเขา

“ในทีแรกเรากลัวว่าหากเราไม่ถูกระบุรวมอยู่ในเป้าหมายที่ 3 เราอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยสิ่งที่เรียกว่าการอนุรักษ์” Figueroa ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง Omaguaca-Kolla ทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา กล่าว

ผู้คนมากกว่า 250,000 คนใน 15 ประเทศถูกขับไล่ออกจากพื้นที่คุ้มครองตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2014 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยกลุ่ม Rights and Resources Initiative ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านป่าไม้และการพัฒนาท้องถิ่น

“นี่นับเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่เราควรเฉลิมฉลอง” Jennifer Tauli Corpuz ตัวแทน IIFB จากชาวพื้นเมือง Kankana-ey Igorot แห่งจังหวัด Mountain ในฟิลิปปินส์ กล่าว

กลุ่มชนพื้นเมืองยังไม่ได้รับข้อตกลงตามที่พวกเขาเรียกร้องจริง ๆ ซึ่งก็คือข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการอนุรักษ์ตามพื้นที่ประเภทที่สามสำหรับชนพื้นเมือง ควบคู่ไปกับพื้นที่คุ้มครองและ “มาตรการอนุรักษ์ตามพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ” (OECMs) เธอระบุ

แต่เธอก็เสริมว่าขณะนี้ก็ถือว่ามี “จุดที่เป็นประเด็นมากพอ” ในกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกฉบับใหม่ที่จะช่วยปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่เดิมด้านสิ่งที่นับเป็นพื้นที่คุ้มครองและ OECMs เพื่อให้ครอบคลุมดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เรารู้สึกว่ามันเพียงพอแล้วที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปในระดับชาติ หากจะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างรัฐบาลและชนพื้นเมือง” Corpuz กล่าว

ความรับผิดชอบ

หลังจากการรับรองข้อตกลง COP15 ซึ่งถูกต่อต้านโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่โต้แย้งว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการกลับไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายดังกล่าวในระดับชาติ

เป้าหมายด้านธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกชุดก่อนหน้าที่ตกลงกัน ณ เมืองไอจิเมื่อปี 2010 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดวิธีการดำเนินการและทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบ

กลับกันในครั้งนี้ กลไกการนำไปปฏิบัตินั้น “แข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” แต่ “น่าเศร้าที่เป็นเพียงการขอความสมัครใจเท่านั้น” Bernadette Fischler Hooper หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนระหว่างประเทศของ WWF International กล่าว

กรอบการติดตามสำหรับข้อตกลงใหม่นี้ประกอบด้วยการทบทวนความคืบหน้าทั่วโลก โดยอ้างอิงจากรายงานระดับประเทศ

แต่ข้อตกลงกล่าวเพียงว่า ประเทศต่างๆ “มีสิทธิ์นำผลของการทบทวนทั่วโลกมาพิจารณาด้วย” ในการแก้ไขและนำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติไปปฏิบัติ

Aslak Holmberg ประธานสภา Saami ในฟินแลนด์ และเป็นผู้ประสานงานภูมิภาคอาร์กติกของ IIFB กล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็น “ก้าวสำคัญ” สำหรับชนพื้นเมือง แต่ “บทบาทใหญ่ยังคงอยู่ในฝั่งของรัฐบาลนานาประเทศ”

Holmberg ทำประมงจับปลาแซลมอนในแม่น้ำชายแดนระหว่างฟินแลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามข้อบังคับการประมงที่เข้มงวดในปี 2017 แม้ว่าแนวทางการประมงของเขาจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนก็ตาม เขากล่าว

“นั่นทำให้ฉันกลายเป็นอาชญากรทั้งที่แค่หากินตามวิถีดั้งเดิมเท่านั้น” เขากล่าวเสริม

ข้อตกลงสุดท้ายที่ได้รับอนุมัติจาก COP15 น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต เนื่องจากมีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ชนพื้นเมืองจะต้องสามารถบรรลุสิทธิของตนในการ “ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามจารีตประเพณี”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อตกลงพหุภาคีที่สนับสนุนประเพณีของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเช่นนี้ก็ตาม Holmberg กล่าวว่ากฎหมายในประเทศเองยังคงมีอิทธิพลเหนือกว่าในเรื่องเหล่านี้

“ผมไม่เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะแตกต่างไปจากเดิมถึงขนาดจะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการที่รัฐปฏิบัติต่อธรรมชาติและต่อต้านธรรมชาติ” เขากล่าว

“เราแค่ต้องพยายามทำให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้”

ที่มา – https://www.reuters.com/article/global-environment-summit-rights-idAFL8N3370F0

แชร์