Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

 ข้อเรียกร้องของ “กรีนพีซ  ประเทศไทย”  ต่อผู้นำ APEC เมื่อเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูง

11 พฤศจิกายน 2565

กรีนพีซ

กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรม ส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่กำลังจะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย -แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP 27 ที่สาธารณรัฐอียิปต์ (วันที่ 6 – 18 พ.ย. 65) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยืนหยัดร่วมกับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายสำหรับกลุ่มประเทศและชุมชนที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565  ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  ที่จัดขึ้นในวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ มีโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy)เป็นวาระการประชุมหลัก และมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และในวันที่ 19 พ.ย.65 จะมีการเผยแพร่คำประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (The Bangkok Goal Declaration on BCG) อย่างเป็นทางการ

กรีนพีซ 1

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย มองว่า รัฐบาลยังมีข้อบกพร่องและช่องโหว่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพราะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ละเลยที่จะไม่กล่าวถึงภาระความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นหากไทยจะเรียกร้องการชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage)ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก็อาจเป็นไปได้ยาก  ประกอบกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะ (โรงไฟฟ้าขยะ) และออกระเบียบหรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรคาร์บอนเครดิตแก่เอกชนผู้ลงทุนปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งหากยังดำเนินการต่อไปจะนำไปสู่การบังคับขับไล่ชุมชนออกจากที่ดินทำกิน ทำให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาผืนดินและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นอาชญากรทางสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในเดือนม.ค. 2564 ให้เป็นวาระแห่งชาติ อาจกล่าวได้ว่า  BCG คือกลไกประสานสารพัดนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของรัฐบาลประยุทธ์หลังการระบาดใหญ่ของ โควิด-19 รวมถึงยังเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง 

กรีนพีซ 2
การรวมตัวชูป้ายผ้ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการให้ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมตื่นตัวกับการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ที่บริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติ ซึ่งใกล้กับอาคารจัดประชุม

นอกจากนี้กรีนพีซยังชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยชนชั้นนำและกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งดำเนินธุรกิจที่ห่างไกลจากคำว่ายั่งยืน และมักทำการฟอกเขียวเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่บริษัทตนเองก่อขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 แต่ยังห่างไกลต่อเป้าหมายตามความตกลงปารีส ยิ่งไปกว่านั้น แทบไม่ปรากฏมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวที่ออกแบบเพื่อต่อสู้กับภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ มีเพียงแต่วิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาดซึ่งผลักดันโดยกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่มีกลไกของรัฐบาลหนุนหลัง

แชร์