
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ จัดเสวนา #สมุดปกขาวถ้ำหลวงฯภัยพิบัติโลกครบ 4 ปี ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเยาวชนและโค้ช รวม 13 คน เตรียมเผยแพร่ ทางเฟซบุ๊กเพจ #ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เวลา 19.00 น.
ย้อนกลับไปวันที่ 23 มิ.ย. 2561 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุภัยพิบัติที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ เหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มต้นจากสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนในท้องถิ่น12 คนและครูฝึกสอน 1 คน ในทีมหมูป่าอะคาเดมี ได้เข้าไปสำรวจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย หลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อม แต่ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกหนัก มวลน้ำไหลเข้าท่วมปิดเส้นทางเข้าออก ทำให้ทั้ง 13 คนไม่สามารถออกมาได้
ปฏิบัติการค้นหาจึงได้เริ่มต้นขึ้นจากเจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนสังเกตเห็นรถจักรยาน 11 คัน จอดทิ้งไว้ที่หน้าถ้ำ ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้รับแจ้งเหตุเด็กหายเข้าไปในถ้ำ จึงประสานงานตำรวจสายตรวจให้เข้าไปตรวจสอบภายในถ้ำเป็นครั้งแรก จนพบรองเท้าและสิ่งของถูกวางไว้ที่พื้นถ้ำ
ฝนที่ตกหนักทำให้ระดับน้ำในถ้ำเพิ่มสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ได้พยายามสูบน้ำออกแต่ไม่เป็นผล จึงขอความช่วยเหลือจากหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ หน่วยซีล จนทีมแรกที่เข้าไปค้นหาพบรอยนิ้วมือคนเกาะตามผนังถ้ำ แต่เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นจนถึงระดับอันตราย หน่วยซีลจำเป็นต้องถอนกำลัง
จากนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ระดมนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาในพื้นที่และสำรวจภายนอกถ้ำขณะที่ทีมนักดำน้ำจากต่างประเทศเข้ามาช่วยค้นหาผู้สูญหายโดยปฏิบัติภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย แต่ฝนที่ตกลงมา ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งระบายน้ำออกและระดมถังออกซิเจนเข้าไปในถ้ำพร้อมเตรียมซักซ้อมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ต่อมา วันที่ 3 ก.ค. 61 นักประดาน้ำชาวอังกฤษ 2 คน พบผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คน ที่บริเวณเนินนมสาว ซึ่งห่างจากปากถ้ำ 4 กิโลเมตร ทำให้ทีมนักดำน้ำ 7 คน รวมถึงแพทย์ถูกส่งเข้าไปดูแลปฐมพยาบาลผู้รอดชีวิต กระทั่ง 6 ก.ค.61 จ่าเอกสมาน กุนันหรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีลที่รับภารกิจให้ลำเลียงขวดอากาศไปวางตามจุดต่างๆในถ้ำ หมดสติขณะดำน้ำกลับ คู่ดำน้ำได้ปฐมพยาบาลกู้ชีพแต่ไม่สำเร็จส่งผลให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา กลายเป็นความเสียใจให้กับทีมช่วยเหลือ และประชาชนทุกคนที่ทราบข่าว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ 13 หมูป่าต่อทันที เพราะต้องแข่งกับเวลาที่มวลน้ำอาจจะมาเพิ่ม
8 มิ.ย. 61 คือวันที่คนทั้งโลกดีใจ หลังจากเจ้าหน้าที่สามารถช่วยผู้รอดชีวิตกลุ่มแรก4 คนออกมาได้ด้วยวิธีให้ยาสลบแล้วครอบ Full mask Oxygen และช่วยกลุ่มที่สองอีก 4 คน ในวันที่ 9 มิ.ย.61 จนสุดท้ายวันที่ 10 มิ.ย.61 สามารถช่วยทั้งหมดออกมาได้ครบ 13 คน ก่อนเคลื่อนย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติระดับโลก ของภารกิจ 18 วัน ที่ทำให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ – ภาคเอกชน และประชาชน กว่า10,000 คน ที่อาสาเข้ามาช่วยค้นหาทีมฟุตบอลเยาวชน 13 หมูป่าอะคาเดมี