ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ กรณีที่ระยะนี้พบสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย กลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น การตรวจด้วย ATK อาจแสดงผลช้าหรือขึ้นขีดจาง ๆ ระบุว่า สายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดขณะนี้ เป็น โอมิครอน รุ่น 2 ที่มีการกลายพันธุ์อย่างไม่รู้จบ
– ย้อนหลังไป 1 ปี เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 64 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแจ้งชื่อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่ “B.1.1.529” ตามอักษรกรีก ว่า “โอมิครอน” และหลังจากนั้นเพียง 4 สัปดาห์ ก็พบว่า “โอมิครอน” ได้ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ “เดลตา” แต่อาการความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอนต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตามาก

– ต้นปี 65 โอมิครอน (B.1.1.529) เริ่มมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นโอมิครอนรุ่นแรก และทยอยระบาดแทนที่กันมาเป็นลำดับตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4, และ BA.5
– ต.ค. 65 โอมิครอน BA.5 เริ่มอ่อนกำลังการระบาดและลดจำนวนลง กระทั่งวงการแพทย์ได้ตรวจพบโอมิครอนรุ่นสอง (second generation omicron variants) ซึ่งเป็นกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) และเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของสายพันธุ์ “BA.2” เช่น BA.2.75, BN.1, CH.1.1, BQ,1, BQ.1.1, BF.7 อุบัติขึ้นมา
เวลาไล่เลี่ยกันหลายประเทศพบกับไวรัสลูกผสม (recombinant variant) 2 ลักษณะ คือ
1. ระหว่างโอมิครอนต่างสายพันธุ์ ที่สามารถเพิ่มตำแหน่งการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าการกลายพันธุ์ด้วยตนเองของแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะบริเวณส่วนโปรตีนหนามเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อจากธรรมชาติได้เหนือกว่าบรรดาโอมิครอนรุ่นสอง ประกอบด้วยสายพันธุ์ XBB, XBD และ XBF
2. ระหว่างสองสายตระกูล “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” ที่เรียกว่า “เดลตาครอน” ประกอบด้วยสายพันธุ์ XAY,XBA,XBC, และ XAW
– ผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมติฐานว่าลูกผสมจากสองสายตระกูลเหล่านี้เกิดจากผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเดลตาเรื้อรังแล้วมาติดเชื้อซ้ำด้วยสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 เกิดการแลกเปลี่ยนส่วนของจีโนมในร่างกายของผู้ติดเชื้อรายเดียวกันเกิดเป็นลูกผสมระหว่าง เดลตา และโอมิครอน ซึ่งการระบาดของสายพันธุ์นี้(XAY และ XBC ) จะยังคงหมุนเวียนอยู่ในหลายประเทศ แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ต่างจากโอมิครอนต่างสายพันธุ์ เช่น XBB ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อที่น่ากังวลใจที่เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์มียีนก่อโรครุนแรงของสายพันธุ์เดลตาอยู่ด้วย
– โอมิครอนลูกผสม XBB และ XBB.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่าโอมิครอนรุ่นที่สองทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน(BA.2.75, BN.1, BQ,1, BQ.1.1, BF.7) ยกเว้นเพียงสายพันธุ์เดียวคือ CH.1.1 ซึ่งมีต้นตระกูลมาจาก BA.2 พบในประเทศออสเตรีย, ออสเตรเลีย, อังกฤษ ฯลฯ

– อาการของโควิดสายพันธุ์ โอมิครอนรุ่นที่2 พบอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง คือมีลักษณะคล้ายกับเป็นไข้หวัด แต่มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ที่พบการระบาดช้ากว่าแต่อาการรุนแรงและมีโอกาสทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตมากกว่า
– ปี 66 มีสิ่งที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง โดย ศ.ดร.วสันต์ ระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกอาจมีโอกาสได้เห็นโอมิครอนรุ่นสาม ซึ่งเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของ “BA.5” แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ลักษณะอาการของสายพันธุ์นี้ จะมีระดับความรุนแรงของไข้หวัดหรือก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง จนเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนในช่วงที่เดลตาระบาดหรือไม่ ซึ่งหากมีความรุนแรง เบื้องต้นทราบว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้เตรียมอักษรกรีกที่จะใช้กับไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์และก่อโรครุนแรงตัวถัดจากโอมิครอนไว้แล้วคืออักษร π (พาย/Pi) แต่ส่วนนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และต้องไม่ประมาท

การดูแลรักษาสุขภาพและเตรียมความพร้อม
– แม้อาการของโอมิครอนทุกสายพันธุ์จะไม่รุนแรงแต่ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ประชาชนยังควรต้องระมัดระวังตัวเอง หากมีโอกาสควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ควรฉีด และเมื่อติดเชื้อ โควิด-19 ก็ควรรับประทานยาทันทีไม่ควรปล่อยให้หายเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้