เครื่องหมายอัศเจรีย์

“จากมาเรียมถึงดงตาล : เมื่อไหร่ ทะเล จะเป็นบ้านที่ปลอดภัย?”

ข่าวการพบซากไร้ชีวิตของ “ดงตาล” พะยูนน้อยที่อ่าวสัตหีบ สร้างความเศร้าให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย เพราะเพียงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ คนไทยเพิ่งมีความสุขกับภาพพะยูนน้อยว่ายเคียงข้างเต่าตนุตัวใหญ่ เป็นภาพความงดงามของมิตรภาพต่างสายพันธุ์แห่งท้อง ทะเล ที่ไม่มีโอกาสเห็นได้บ่อยนัก โดยต่อมาพบว่า สาเหตุการตายของดงตาลมาจากการถูกของแข็งกระแทกอย่างแรงจนกระทบอวัยวะภายใน

ความเศร้าจากการตายของดงตาล ไม่แตกต่างกับเรื่องราวของ “มาเรียม” พะยูนน้อยกำพร้าแม่แห่งทะเลอันดามัน ขวัญใจของคนทั้งประเทศเมื่อปี 2563 ที่ต่างเอาใจช่วยให้มันอยู่รอดและเติบโตไปได้ แต่ในที่สุดมันก็ตายเพราะขยะพลาสติก

ทุกครั้งที่มีข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเล ก็จะมีการตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันโดยเฉพาะสาเหตุการตายที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องมือประมง ขยะพลาสติก และการท่องเที่ยวที่เกินขีดความสามารถการรองรับของพื้นที่ แต่ดูเหมือนคำตอบจะยังมาไม่ทันสถานการณ์ เพราะข่าวการตายของสัตว์ทะเลก็ยังคงมีมาต่อเนื่อง โดยไม่อาจเดาได้เลยว่าตอนจบของเรื่องเศร้านี้จะมาถึงวันไหน

ปี 2565 พบเต่าทะเลเกยตื้นมากที่สุด

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ตลอดปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม 2565) พบสัตว์ทะเลหายากใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เต่าทะเล โลมา-วาฬ และพะยูน เกยตื้นมากถึง 627 ตัว 

เมื่อดูในรายละเอียดสายพันธุ์ กรณีเต่าทะเลพบการเกยตื้น จำนวน  419 ตัว แยกเป็น เต่าตนุ 280 ตัว, เต่ากระ 108 ตัว, เต่ามะเฟือง 3 ตัว, เต่าหญ้า 23 ตัว, เต่าหัวค้อน 2 ตัว และไม่ทราบชนิดเนื่องจากสภาพซากเน่า 3 ตัว ขณะที่พะยูน พบการเกยตื้นจำนวน 20 ตัว 

โลมาและวาฬพบการเกยตื้น จำนวน 188 ตัว แยกเป็น โลมาปากขวด 12 ตัว, โลมาหัวบาตรหลังเรียบ 85 ตัว, โลมาหลังโหนก 24 ตัว, โลมาอิรวดี 36 ตัว, โลมาลายแถบ 10 ตัว, โลมากระโดด 2 ตัว, วาฬหัวทุย 2 ตัว, วาฬโอมูระ 1 ตัว, วาฬบรูด้า 4 ตัว, วาฬหัวทุยแคระ 1 ตัว, วาฬเพชฌฆาตดำ 1 ตัว, วาฬนำร่องครีบสั้น 1 ตัว และไม่ทราบชนิดเนื่องจากสภาพซากเน่า 9 ตัว 

ชุมพร – สุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช แชมป์พื้นที่พบสัตว์ทะเลเกยตื้น

เมื่อจำแนกจุดหรือโซนพื้นที่ๆ พบการเกยตื้น เริ่มจากตอนบนคือ พื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 97 ตัว

ส่วนใหญ่เป็นเต่าทะเล ร้อยละ 77, กลุ่มของโลมาและวาฬ ร้อยละ 22 และพะยูน ร้อยละ 1

พื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 111 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเต่าทะเล ร้อยละ 78, กลุ่มของโลมาและวาฬ ร้อยละ 20 และพะยูน ร้อยละ 2

ขณะที่พื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 80 ตัว ส่วนใหญ่เป็น โลมาและวาฬ ร้อยละ 58, เต่าทะเล ร้อยละ 43

พื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 156 ตัว ส่วนใหญ่เป็น เต่าทะเล ร้อยละ 72, กลุ่มของโลมาและวาฬ ร้อยละ 27 และพะยูน ร้อยละ 1 ส่วนพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส  พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 43 ตัว ส่วนใหญ่เป็น เต่าทะเล ร้อยละ 58, โลมาและวาฬ ร้อยละ 42

พื้นที่ทะเลอันดามันตอนบน ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต และพังงา พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 88 ตัว ส่วนใหญ่เป็น เต่าทะเล ร้อยละ 74, โลมาและวาฬ ร้อยละ 23 และพะยูน ร้อยละ 3

ขณะที่พื้นที่ทะเลอันดามันตอนล่าง ได้แก่ กระบี่ ตรัง และสตูล พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น รวม 52 ตัว ส่วนใหญ่เป็น เต่าทะเล ร้อยละ 40, โลมาและวาฬ ร้อยละ 37 และพะยูน ร้อยละ 23

พื้นที่และสัดส่วนการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก / ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ขยะทะเล สาเหตุหลักทำเต่าทะเลเกยตื้น

สาเหตุการเกยตื้นและการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก กรณีเต่าทะเล ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 45, ส่วนที่สามารถระบุสาเหตุของการเกยตื้นได้ ร้อยละ 55 พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุจากขยะทะเล ร้อยละ 33, มีเต่าทะเลเกยตื้นจากการป่วย ร้อยละ 32, มีสาเหตุจากเครื่องมือประมง ร้อยละ 14 เครื่องมือประมงที่มักจะกระทบต่อเต่าทะเลคือเครื่องมือประเภทอวน เบ็ด และลอบ นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุทางเรือ การป่วยร่วมกับขยะทะเล และหลงทิศทาง ร้อยละ 21 

กรณีโลมาและวาฬ เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิตหรือซากเกยตื้น ร้อยละ 93 และเกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 7 โดยสามารถช่วยชีวิตและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ร้อยละ 62 และตายระหว่างรักษา ร้อยละ 38 การเกยตื้นส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 79 และสามารถระบุสาเหตุได้ ร้อยละ 39 ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการป่วย ร้อยละ 34, สงสัยว่าเครื่องมือประมง ร้อยละ 18, ถูกกระแทกด้วยของแข็ง ร้อยละ 13, สาเหตุจากเครื่องมือประมง ร้อยละ 9 และจากสาเหตุอื่นๆ รวม ร้อยละ 26 เช่น ลูกพลัดหลง หลงทิศทาง ขยะทะเล เป็นต้น

การเกยตื้นของพะยูน เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต ร้อยละ 85 และเกยตื้นมีชีวิต ร้อยละ 15 ซึ่งสามารถช่วยเหลือและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ร้อยละ 67 โดยเป็นการเกยตื้นที่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 20 และที่สามารถระบุสาเหตุได้ ร้อยละ 80 สาเหตุการเกยตื้นจากจำนวนที่สามารถระบุได้ พบว่าพะยูนมีการเกยตื้นจากสาเหตุการป่วยเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 35, มีสาเหตุจากการป่วยร่วมกับการกินขยะทะเล ร้อยละ 10 และอุบัติเหตุทางทะเล ร้อยละ 15 

เร่งเดินหน้าแผนอนุรักษ์ ลดจำนวนสัตว์ทะเลเกยตื้น

การที่ยังพบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลกำหนดให้มีแผนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก โดยในส่วนการอนุรักษ์พะยูน หลังการตายของ “มาเรียม” ก็มีการจัดทำ “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ”ระยะที่ 1 (2563-2565) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแผนฯ ระยะที่ 2 (2566-2568) ส่วนการอนุรักษ์โลมา ก็มีการจัดทำ “แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา” (2566-2570) 

กรณีเต่าทะเล มีการจัดทำ “แผนการจัดทำแนวทางอนุรักษ์และจัดการเต่าทะเลในประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ วุฒิสภา ประเด็น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล” ซึ่งปัจจุบัน (เดือน ก.พ. 2566) การจัดทำแผนฯ ดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยหลังจากนี้ก็จะนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

เรียกได้ว่า ปี 2566 เป็นปีเริ่มต้นของแผนการอนุรักษ์ โลมาและเต่าทะเล ส่วนพะยูนก็เริ่มดำเนินการระยะที่ 2 ซึ่งหลังจากนี้ คงต้องติดตามดูว่า การดำเนินการตามแผนทั้งหมดนี้ จะช่วยลดปริมาณการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากลงได้มากน้อยแค่ไหน

แชร์