เครื่องหมายอัศเจรีย์

จำปีสิริณธร พรรณไม้ไทยหนึ่งเดียวในโลก

ต้นจำปีสิรินธร หรือ ต้นซับจำปา คือพรรณไม้หายาก และถือเป็นจำปีสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ความพิเศษของต้นจำปีสิรินธร คือเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์มากที่สุดในหมู่ของไม้ดอกที่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน มีวิวัฒนาการในการปรับตัวต่ำที่สุด จึงเป็นพรรณไม้ที่มีโอกาสสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติได้มากที่สุด ลักษณะเด่นของพรรณไม้ คือ มีลำต้นได้หลายขนาด เปลือกไม้ค่อนข้างหนา ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน มีช่องอากาศเป็นรอยขีด สีขาวนูนเล็กน้อยกระจายอยู่ มีใบเดียว ออกเวียนรอบกิ่ง พรรณไม้พื้นเมืองของไทยในวงศ์นี้ไม่ผลัดใบ มีดอกขนาดใหญ่เป็นดอกเดียว ออกตามซอกใบหรือตามปลายยอดมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และจะยิ่งมีกลิ่นหอมมากในเวลากลางคืน

ดอกจำปีสิรินธร มีสีขาวนวล กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เรียงเป็นชั้น ๆ ละ 3 กลีบ ปลายกลีบมนกลม เมื่อเริ่มแย้มโคนกลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอ่อน กลีบดอกชั้นในมีขนาดแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เมื่อเริ่มแย้ม จะส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ลักษณะการออกดอก จะออกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมรูปกระสวย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 3.5 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมี 1 แผ่น สีเขียวอ่อน และมีขนอ่อน ๆ คลุมอยู่ กาบฉีกออกและหลุดไป เมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ก้านดอกยาว 1.8 เซนติเมตร ดอกบานตั้งขึ้น
เจ้าหน้าที่ต้องคอยตรวจสอบใบของต้นจำปีสิรินธรทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชหรือแมลงรบกวนจนเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้เกิดโรคหรือตายไปในที่สุด
ตาน้ำผุดธรรมชาติภายในป่าซับจำปา คือแหล่งหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นและ ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพผืนป่า ซึ่งในอดีต ชาวบ้านเล่าว่า เคยมีตาน้ำผุดทั่วทั้งผืนป่าถึง 16 ตา แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change รวมถึงภาวะโลกร้อนและภัยแล้งทำให้ขณะนี้คงเหลือตาน้ำผุดในป่าเพียง 2 แห่งเท่านั้น
หลังจากต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ต้นจำปีสิรินธร ทยอยตาย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาและอนุรักษ์พรรณไม้ชนิดนี้ไว้ เบื้องต้นจึงมีการนำเมล็ดพันธุ์มาคัดเลือกเพื่อนำไปเพาะก่อนลงดินปลูก แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการดังกล่าวค่อนข้างเป็นวิธีที่ยากเนื่องจากการดูแลพรรณไม้ชนิดนี้มีความซับซ้อน
ป่าซับจำปา หรือ ป่าจำปีสิรินธร ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 และ 7 ของต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี มีพื้นที่ทั้งสิ้น 96 ไร่ 3 งาน
ในอดีตป่าแห่งนี้ เคยพบต้นจำปีสิรินธรถึงกว่า 500 ต้น ในช่วงปี 2557 ก่อนที่ภายหลังจะประสบกับภาวะภัยแล้ง ผืนป่าขาดน้ำ ทำให้ต้นจำปีสิรินธร ค่อย ๆ ทยอยยืนต้นตาย บางส่วนล้มตาย ทำให้ปัจจุบัน ป่าแห่งนี้ เหลือต้นจำปีสิรินธร เพียง 18 ต้นเท่านั้น
ต้นจำปีสิรินธร มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ ขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืดของภาคกลางมีต้นใหญ่เปลือกแตกเป็นลึกตามยาว ใบแก่รูปรีค่อนข้างกลม ดอกเริ่มแย้มมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอกปลายกลีบมนกลม กลีบค่อนข้างบางช่อผลค่อนข้างกลมและเล็ก ถูกค้นพบครั้งแรก โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการระดับ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2541 โดยได้พบป่าพรุน้ำจืด และพบต้นจำปีที่มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาทั่วไป เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด ก่อนจะตั้งชื่อและอนุรักษ์ให้พื้นที่ ม.1 ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาดูแลอนุบาลต้นจำปีสิรินธรโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นจำปีสิรินธรสูญพันธุ์
สภาพซากต้นจำปีสิรินธร ที่ล้มตายเพราะขาดน้ำ โดยพรรณไม้ชนิดนี้ จะขึ้นเจริญงอกงามได้เฉพาะพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นและมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปี ประกอบกับต้องเป็นพื้นที่ที่ปราศจากมลพิษ ซึ่งที่ป่าซับจำปาแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มี ความเหมาะสมอย่างยิ่งเนื่องจาก มีสภาพภูมิประเทศเป็น ป่าพรุน้ำจืดขนาดใหญ่ น้ำมีความสะอาดบริสุทธิ์ตลอดทั้งปี แต่เมื่อต้องเผชิญกับสภาพภัยแล้ง ในช่วงปี 2557-2561 ทำให้จำนวนต้นจำปีสิรินธรในป่าแห่งนี้ทยอยยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ และมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

แชร์