“ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก” นับเป็นอีกภัยพิบัติที่ต่อจากฝนตกหนัก ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตจำนวนมาก โดยที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้”
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายให้ฟังว่า ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก นับเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่เคยเกิดดินโคลนถล่ม – น้ำป่าไหลหลาก แต่หากมองความรุนแรง จะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ ด้วยปัจจัยของแนวภูเขาสูง ยิ่งสูงยิ่งชันโอกาสรับน้ำหนักตัวเองยิ่งน้อยลง ทั้งยังมีปัจจัยร่วมในด้านลักษณะทางธรณีวิทยา ที่มีหินบางประเภทหินแกรนิตในพื้นที่ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นหินที่แข็งคงทน ที่จริงแล้วเวลาที่หินเหล่านี้ผุกร่อนจะเป็นจุดอ่อนไหวให้เกิดดินถล่มมากที่สุด พบมากในภูเขาทางภาคเหนือ ตะวันออก และภาคใต้
ปัจจัยเรื่องของฝนก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งลักษณะการตกของฝน ความถี่ของฝน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฝนตกมากจะมีโอกาศเกิดดินถล่มเพิ่ม เพราะการที่ฝนตกสะสมสม่ำเสมอจะทำให้เกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรให้กัดเซาะ การเกิดดินถล่มก็อาจจะน้อยลงตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือฝนที่ผิดปกติ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดดินถล่มโดยที่ไม่คาดคิด
รวมถึงการเข้าไปปรับ และรบกวนพื้นที่ของมนุษย์ จากป่าให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร หรือที่รุนแรงกว่านั้น คือการเข้าไปตัดเขาลาดชันเพื่อทำถนน บ้านเรือนหรือการก่อสร้างอาคาร พวกนี้นับเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดดินถล่มเร็วขึ้น
“ผมมองว่าการเข้าไปปรับเปลี่ยนของมนุษย์ เป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลยคือเรื่องน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ที่เกิดจากฝนตกหนักตามธรรมชาติ ซึ่งโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เพียงพอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการป้องกันเพื่อลดความสูญเสีย”

…การพัฒนาเมือง เป็นไปตามวิถีอยู่แล้ว…
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปถึงขั้นวางโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันดินถล่ม – น้ำป่าหลาก สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือเรื่องกฎหมายข้อบังคับ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงแค่กฎหมายควบคุมอาคาร ที่จะเน้นในพื้นที่ราบ ,กฎหมายเกี่ยวกับการขุดดิน ถมดิน ยังไม่สามารถครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ภูเขา ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะอาจจะเข้าใจว่าพื้นที่ภูเขาไม่สามารถสร้างอาคาร หรือปรับปรุงไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ป่า หากเกินความสูงตามข้อบังคับก็เท่ากับมนุษย์กินพื้นที่ป่า จึงทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ หลายพื้นที่ที่มนุษย์เข้าไปอยู่ก่อน จึงไม่สามารถห้าม หรือวางข้อบังคับได้ ทั้งที่บางส่วนเป็นพื้นที่เสี่ยงของดินถล่ม
ยกตัวอย่างในประเทศฮ่องกง และญี่ปุ่น มีการออก พ.ร.บ. การใช้พื้นที่เขาสูงชันโดยเฉพาะ เพื่อลงโฉนดในฐานข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของที่สโลพเอียง ดังนั้นคนที่เข้าไปใช้พื้นที่ต้องดูแลให้ปลอดภัยเสมอ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ยังไม่พร้อมเนื่องจากเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่คือเกษตรกรที่ไปทำไร่อยู่บนภูเขา การที่ต้องมาดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วยอาจจะลำบาก ฉะนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมาคุยกัน โดย พ.ร.บ. ที่จะเกิดขึ้นจะมีรายละเอียดในเรื่องของการจัดสรรแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนดูแลรับผิดชอบที่ลาดชันในแต่ละพื้นที่ ,การเข้าไปพัฒนาพื้นที่ลาดชันต้องไม่เกิดผลกระทบต่อคนอื่น ไม่ว่าจะทำการถมดิน การตัดต้นไม้ , และหากจะเข้าไปทำอะไร ต้องเข้าไปทำหลักวิชาการ และหลักวิศวกรรม เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ
….พ.ร.บ. ในประเทศไทย มีอำนาจไม่ครอบคลุม…
ปัญหาของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และกฎหมาย มีระเบียบข้อบังคับที่ออกมาจากแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันไป แต่ผู้ที่ใช้จริงๆ คือท้องถิ่น ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความรู้สึกของคนในพื้นที่ ดังนั้นมองว่าควรให้เป็นเรื่องการจัดการตามระบบชุมชน มากกว่าการนำกฎหมายเข้าไปบังคับทันที เพราะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน หรือไม่ปฏิบัติตาม โดยเน้นการชี้ให้เห็นถึงความอันตราย และความปลอดภัยของชาวบ้านเองในการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งก็มีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ใช้ระบบชุมชนและประสบความสำเร็จ
“พรบ.เวลาเขาออกก็ออกอย่างเดียว ซึ่งก็เหมือนเป็นการตั้งสิ่งที่ดีมาให้ ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่การบังคับใช้มันจะต้องถูกปรับให้เข้าแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเรายังเป็นแบบนี้ ซึ่งถือว่ายังโอเคอยู่ ยังไม่เหมือนหลายประเทศที่เมื่อมี พรบ.จะต้องครอบคลุมทุกอย่างโดยไม่มีข้อยกเว้น”
“หลายพื้นที่บนดอยเป็นพื้นที่เสี่ยงไม่ควรอยู่อาศัย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ จะให้ประชาชนออกจากพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุดินถล่มเกิดขึ้น แล้วใช้กฎหมาย ปภ.ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และสั่งห้ามเข้าไปอยู่อาศัย ขณะเดียวกันโครงสร้างบ้านบนดอยเปลี่ยนไปเพราะความเจริญ จากบ้านไม้กลายเป็นคอนกรีต ปัญหานี้ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายควบคุมอาคารเข้าไปจัดการได้”

….ระบบการเตือนภัยพิบัติดินถล่มในประเทศไทย ดีหรือไม่?…
หากมองในภาพรวมระบบการจัดการและเตือนภัยในประเทศไทยค่อนข้างดีหากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยเก่งกว่า เพียงแต่ไทยมีลักษณะอากาศ และภูมิประเทศที่สอดคล้องกับระบบที่ใช้อยู่ สามารถคำนวนคร่าวๆ ได้ล่วงหน้า 2-3 วัน ความแม่นยำ 50 – 100 % ….สอดคล้องกับการดำเนินการของชุมชนเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต่างจากประเทศอื่น โดยต่างประเทศจะเอาหน่วยงานกลางเป็นหลักในการดูแลทุกพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคาดการณ์ให้เร็วและแม่นยำที่สุด แต่ก็มองว่าไม่มีประโยชน์เพราะแม้จะสามารถเตือนภัยได้ใกล้ๆภายใน 1 ชั่วโมง แต่หากมองในกระบวนการอพยพคนจะไม่ทันการณ์
ดังนั้นในประเทศไทยเมื่อมีการนำข้อมูลมารันโมเดลของปริมาณฝน การเกิดพายุ ก็จะทำให้พบว่าพื้นที่ใดบ้างที่จะมีความเสี่ยง จากนั้นจะส่งข้อมูลลงไปในพื้นที่ เมื่อระบบชุมชนได้รับข้อมูลก็จะมีการนำข้อมูลมาประมวล พร้อมกับตรวจสอบปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาว่าจะมีการอพยพหรือไม่ตามแผนขั้นตอนที่ได้ฝึกปฎิบัติมา เพราะหากจะให้หน่วยงานเป็นดูทุกพื้นที่ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีชุมชนที่มีความเสี่ยงในประเทศไทยถึง 11,000 กว่าชุมชน
…การเกิดดินถล่ม น้ำป่าหลาก ลดลงไหม…
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ อธิบายว่า หากพูดถึงความถี่ของการเกิดดินถล่ม น้ำป่าหลาก ไม่ได้ลดน้อยลง เนื่องจากความถี่ในการเกิดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ความถี่ดินถล่ม ที่เกิดจากการเข้าไปพัฒนาของมนุษย์ การเข้าไปตัดไม้ กิจกรรมการก่อสร้าง กับความถี่ทางธรรมชาติ ซึ่งความถี่จากธรรมชาติไม่ได้ลดลง ส่วนความถี่ทางมนุษย์แล้วแต่มาตรฐานทางวิศวกรรม …..ดังนั้นเราไม่ควรมองความถี่การเกิดเพราะเป็นสิ่งที่คุมไม่ได้ แต่เราต้องมองเรื่องความสูญเสีย ที่ลดลงมากหากเทียบกับเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา นั่นก็เพราะยังไม่มีเครื่องมือในการคาดการณ์ และแจ้งเตือนล่วงหน้า
“ในอนาคตจะดีกว่านี้ไม่เพียงแค่การหยุดยั้งความสูญเสียในชีวิตแล้ว ทรัพย์สินก็จะต้องไม่สูญเสียด้วยการทำโซนนิ่ง แบ่งว่าพื้นที่ว่าตรงนี้ไม่ควรก่อสร้าง หรือว่าสร้างได้แต่ไม่ควรเป็นที่อยู่อาศัย กระบวนการนี้ต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพื่อลดการเข้าไปอยู่ของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง”

…โครงสร้างทางวิศวกรรม กับภัยพิบัติ…
ปัญหาเริ่มตั้งแต่การที่ไทยไม่มีหน่วยงานตรงที่จะใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมในการจัดการดินถล่มขนาดใหญ่ จะมีแค่เพียงกรมทางหลวงที่ดูแลถนน ซึ่งกลายเป็นจุดบอดที่ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณในด้านโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อเข้าไปลดผลกระทบในพื้นที่ภูเขาที่เสี่ยงได้ ทั้งที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในประเทศที่กำลังพัฒนา ยังไม่รวมพื้นที่เป็นภูเขาที่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจอย่าง ภูเก็ต สมุย พัทยา ที่จะต้องมีการวางโครงสร้าง การเตือนภัยในอีกมิติเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยเชื่อถือของนักลงทุน