เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะยอดภู ยอดดอย หากอุณหภูมิลดลงมากๆ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ “แม่คะนิ้ง” (เหมยขาบ) และน้ำค้างแข็ง โดยหลายคนอาจจะไม่รู้มีความแตกต่างกันอย่างไร
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายถึงความแตกต่างให้ฟัง เริ่มจากกลไกการเกิด หากไอน้ำในอากาศ ซึ่งมีสถานะเป็นแก๊ส (มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง โดยเกาะบนผิวของวัตถุต่างๆ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ฯลฯ ฝรั่งเรียกว่า hoar frost หรือเขียนติดกันเป็น hoarfrost ก็ได้ คำๆ นี้ เรียกทับศัพท์ว่า “ฮอร์ฟรอสต์”
ฮอร์ฟรอสต์อาจมีได้ 2 แบบ
- แบบแรกเรียกว่า ฮอร์ฟรอสต์พร็อปเพอร์ (hoar frost proper) เกิดใกล้ผิวพื้นดินและผิวที่เกิดมักวางตัวในแนวระดับ รูปร่างผลึกน้ำแข็งอาจมีเป็นเกล็ด เข็ม หรือพัด ดู(ตัวอย่างในภาพที่ 1 และ 2)


- แบบที่สอง เรียกว่า แอดเวกชันฮอร์ฟรอสต์ (advection hoar frost) เกิดจากอากาศชื้นเคลื่อนที่เข้าปะทะกับผิววัตถุซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส คำว่า advection หมายถึง การเคลื่อนที่ของอากาศในแนวระดับ (ดูภาพที่ 3)

ดร.บัญชา ระบุว่า ความหมายที่ทำให้ต่างประเทศเรียกว่า hoar frost คำว่า hoar (หรือ hoary) แปลว่า แก่มาก หรือ มีผมหงอก ส่วนคำว่า frost หมายถึง น้ำแข็งสีขาวที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศเย็นจัด มีอุณหภูมิติดลบ
“ดูภาพที่ 4 ซึ่งเป็นของคุณชบา ชมพู ซึ่งอยู่ที่เยอรมนีสิครับ คุณชบา ชมพู บอกว่า “ภาพนี้ดิฉันถ่ายเองค่ะที่กองอยู่พื้นดินนั่นเป็นหิมะแต่ที่ต้นไม้นั่นไม่ใช่หิมะนะคะเรียกว่า hoar frost ต้นไม้หัวหงอก”

เมื่อได้รู้จักที่มาคำว่า hoar frost ในภาษาอังกฤษกันแล้วคราวนี้ย้อนกลับมาดูที่ภาษาไทยบ้างนั่นคือคำว่า “เหมยขาบ” และ “แม่คะนิ้ง”
- เหมยขาบ : คำว่า เหมยขาบ เพื่อนคนเหนือของผมทุกคนยืนยันตรงกันว่าได้ยินจากป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย คำนี้จึงเป็นภาษาล้านนาแต่เดิม ทั้งนี้พจนานุกรมภาษาล้านนาระบุว่า “เหมย” แปลว่า “น้ำค้าง”
- แม่คะนิ้ง : ดร.บัญชา ระบุว่า จากข้อมูลที่สืบค้นได้ พบว่าเป็นคำภาษาถิ่นทางแถบจังหวัดเลย ที่คุณวนิดา พรหมรักษา หรือ “กระติก” ซึ่งเป็นเพื่อนของตัวเอง ปัจจุบันเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคนบอก โดยบอกว่าเป็นภาษาท้องถิ่น
“ภาษาท้องถิ่นสมัยกระติกเป็นเด็กที่บ้าน (อ.ด่านซ้าย จ.เลย) จะเห็น “แม่ขะนิ้ง” อยู่ตามยอดหญ้าเกือบทุกเช้าของหน้าหนาวแล้วค่ะปู่ย่าตายายพาเรียกแบบนี้แต่ไม่แน่ใจว่าในภาษาเขียนจะเขียนว่าอย่างไรระหว่างขะนิ้งกับคะนิ้งถ้าเป็นภาษาพูดตามสำเนียงคือ “แหม่ขะนิ้ง” แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่นของที่ใดอีกบ้างหรือเปล่า”
คำสุดท้าย “น้ำค้างแข็ง” ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เรียกแทน “เหมยขาบ” และ “แม่คะนิ้ง” กันพอสมควร แต่คำนี้มีความหมายทางกายภาพที่แตกต่างออกไป
น้ำค้างแข็ง คือการที่สมมติว่าเดิมมีหยดน้ำค้างอยู่บนใบไม้ใบหญ้าอยู่แล้ว ซึ่ง “น้ำค้าง” ต่างประเทศจะเรียกว่า dew ถ้าเน้นไปที่แต่ละหยด ฝรั่งเรียกว่า dewdrop โดยเขียนติดกัน (dewdrop แปลว่า a drop of dew) ทีนี้หากอากาศหนาวเย็นจัด หยดน้ำค้างก็จะแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งเม็ดเล็กๆ (ดูภาพที่ 5)
เม็ดน้ำแข็งซึ่งเกิดจากการที่หยด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เรียกว่า white dew ส่วนฝรั่งทั่วไปเรียกตรงๆ ว่า frozen dew แปลว่า น้ำค้างที่เย็นตัวลงจนกลายเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งที่เป็นเม็ดๆ แบบนี้เรียกว่า “น้ำค้างแข็งตัว” เพื่อให้เข้าใจกลไกการเกิด หรือถ้าเรียกแค่ว่า “น้ำค้างแข็ง” ก็ได้

ดร.บัญชา กล่าวว่า “ฮอร์ฟรอสต์” ทั้งสองแบบมีรูปร่างแตกต่างจาก “น้ำค้างแข็ง(ตัว)” อย่างชัดเจน!
ดังนั้นเวลาชวนกันไปดู “เหมยขาบ” หรือ “แม่คะนิ้ง” จึงหมายถึงไปชม “ฮอร์ฟรอสต์ (hoar frost)” เป็นหลัก เพราะมีรูปร่างเป็นเหลี่ยมมุมหรือเข็มอันสวยงาม ส่วนจะได้ “น้ำค้างแข็ง (white dew)” ติดมาด้วยหรือเปล่านั้นถือเป็นของแถม
ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ ดร.บัญชา จึงขอเสนอว่า อยากให้เลือกใช้คำที่เหมาะสม เช่น “ไปดูเหมยขาบที่ดอยอินทนนท์” หรือ “ไปชมแม่คะนิ้งที่ภูเรือ” และใช้คำว่า “น้ำค้างแข็ง(ตัว)” เฉพาะสำหรับหยดน้ำค้างที่แข็งตัวจริงๆ เท่านั้น
