ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการกำแพงกันคลื่นบนเกาะ สมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางมายื่นหนังสือที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอให้ยุติการศึกษาโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น บน #เกาะสมุย และขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามามีบทบาทศึกษาผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ทั้งข้อดี-ข้อเสีย หากมีกำแพงกันคลื่น

การเคลื่อนไหวดังกล่าว เริ่มขึ้นหลังกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หาดแม่น้ำ และ หาดบางมะขาม ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ความยาว 1.5 กม. และ 2.3 กม. โดยชาวบ้านในพื้นที่มองว่า การรับฟังครั้งนี้มีความไม่โปร่งใส เช่น ไม่มีการอธิบายผลกระทบของกำแพงกันคลื่นอย่างตรงไปตรงมา, แนวทางที่กำหนดมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่

สาเหตุสำคัญที่สุดที่ต้องคัดค้าน ชาวบ้านยังมองว่า เกาะสมุย เป็นเกาะท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก มีปะการังน้ำตื้น ที่สวยงามหากมีกำแพงคอนกรีตหรือเขื่อนกันคลื่นมาสร้างตามแนวชายหาด อาจส่งผลต่อทัศนียภาพ, ภาพลักษณ์ของเกาะ รวมถึงระบบนิเวศ ประกอบกับจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จริงอยู่ในระดับไม่รุนแรง และเกิดกับพื้นที่เพียง 50 เมตรเท่านั้น
“จาก 50 เมตร กลายเป็นโครงสร้าง #กำแพงกันคลื่น ความยาว 1.5 กม. และ 2.3 กม.” ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล จึงเดินทางมาขอร้องให้กรมโยธาฯ พิจารณายกเลิกโครงการและหาแนวทางแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การเรียกร้องให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการคัดเลือกมาตรการที่เหมาะสม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยืนยัน จะนำเรื่องนี้มาพิจารณา และไม่เพียงเฉพาะแค่โครงการบนเกาะ สมุย เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอื่น ๆ อีก เพราะมองว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งควรมีหลายมาตรการเริ่มจากมาตรการอ่อน ไปยังมาตรการแข็ง ไม่ใช่นำแต่โครงสร้างถาวรเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ซึ่งหน่วยงานที่จะรับผิดชอบ ควรมีการตัดสินใจร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย โดยต่อจากนี้ไป ทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการกัดเซาะชายฝั่งเข้าร่วม เพื่อให้มีส่วนในการวิเคราะห์ เห็นชอบหรือหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่
นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ข้อมูลหลังรับหนังสือ ยืนยันว่า ไม่มีธงในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนเกาะสมุย เพียงแต่มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นไว้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการตั้งขออนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุที่ต้องเข้าไปศึกษา เพราะได้รับคำร้องจากอนุ กมธ.ศึกษาแนวทางป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งฯของสภา ให้เข้าไปดำเนินแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ และมีหนังสือจากท้องถิ่นแจ้งมาเท่านั้น ซึ่งหากชาวบ้านไม่ต้องการ ทางกรมฯ ก็จะไม่ดำเนินการ ซึ่งหลังการหารือล่าสุดรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองยืนยันจะยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนเกาะสมุยแล้ว
ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร