เครื่องหมายอัศเจรีย์

วัฒนธรรม ซูชิ ของญี่ปุ่น จะรอดพ้นจากวิกฤตโลกรวนหรือไม่

ซูชิ

โลกร้อนกำลังทำให้ทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เปลี่ยนทิศทางการอพยพของแซลมอนและทูน่า รวมทั้งทำลายการประมง น้อยคนนักที่ได้มาเยือนตลาดปลาชิโองามะ ณ ประเทศญี่ปุ่นจะกล้าพูดว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจะต้องอดรับประทานอาหาร ซูชิ จานโปรดเข้าสักวัน ไม่ว่าจะเป็นขาปูยักษ์ในหม้อต้มนาเบะ หรือข้าวปั้นไข่ปลาแซลมอนห่อด้วยสาหร่ายโนริ

ซูชิ 1

แผงขายปลาต่างยกชิ้นปลาทูน่าครีบสีน้ำเงินชิ้นใหญ่ที่ถูกแล่อย่างเชี่ยวชาญ ขณะที่เหล่าผู้จ่ายตลาดยามเช้าต่างจับจ่ายปลาหมึก ปลาลิ้นหมา และสับปะรดทะเลที่เพิ่งถูกจับมาสดๆ เมื่อรุ่งสางถึงแม้จะมีอาหารทะเลมากมายวางขายในเมืองท่าเล็กๆ นี้ แต่ปรากฎหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ผสานกับคำบอกเล่าของชาวประมง บ่งบอกถึงอนาคตอันหริบหรี่ของอาหารทะเลญี่ปุ่นอันเป็นผลพวงจากวิกฤตภาวะโลกรวน

Miki Seino เจ้าของแผงขายปลาที่ตลอดชิโองามะ ทอดสายตาสิ้นหวังเมื่อผู้มาเยือนชี้ไปยังปลาซันมะ ซึ่งเป็นปลาขึ้นชื่อในฤดูใบไม้ร่วงของประเทศญี่ปุ่นบนแผงของเธอ ปลาซันมะนิยมนำมาย่างหรือรับประทานดิบเป็นซูชิหรือซาซิมิ

Miki Seino เล่าว่า น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ประชากรปลาในภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น มีจำนวนน้อยลงและขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน และทำให้ปลามีราคาสูงขึ้น

ซูชิ 2

กรมการประมงของญี่ปุ่นระบุว่าโลกร้อนเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเล ทำให้ประชากรปลาซันมะ ปลาหมึก แซลมอน และอาหารทะเลอื่นๆ ของญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง

วิกฤตน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นจากการพัดของกระแสน้ำอุ่นคูโรชิโอะทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ฝูงปลาซันมะเปลี่ยนทิศทางการอพยพออกไปไกลจากฝั่งซึ่งมีอาหารน้อยลง ทำให้ประชากรปลามีจำนวนน้อยลงและมีคุณภาพต่ำลง

Aiko Yamauchi รองประธานบริษัท Seafood Legacy ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในญี่ปุ่นซึ่งสนับสนุนการทำธุรกิจการประมงอย่างยั่งยืนและกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สัตว์ทะเลที่ชาวญี่ปุ่นโปรดปรานกำลังมีจำนวนลดลงอย่างหนัก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าปลาชนิดอื่นก็มีจำนวนน้อยลงเช่นกันหรืออาจจะน้อยกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อุตสาหกรรมการประมงของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งของอาหารทะเลเกินครึ่งของทั้งประเทศ กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต

ปลา2

ห่างออกไปหลายร้อยไมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตลาดชิโองามะ ชุมชนชาวประมงในจังหวัดโคชิ กลับพบฝูงปลาทูน่าท้องแถบ จำนวนมากและแต่ละตัวมีไขมันมากว่าปกติ ปลาทูน่าท้องแถบเป็นปลาขึ้นชื่อของจังหวัดโคชิ ซึ่งคนนิยมรับประทานแบบดิบ 

อ่าวโค้งในจังหวัดโคชิเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยฝูงปลา แต่การที่ปลามีจำนวนมากขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนมากกว่าสิ่งที่ดี ทั้งนี้ ในฤดูหนาว อุณหภูมิผิวน้ำในอ่าวโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 2 องศาเซสเซียสในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงมีอาหารให้ปลากินมากขึ้น แต่ในระยะยาว น้ำที่อุ่นขึ้นจะก่อให้เกิดหายนะ เพราะน้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจะไม่สามารถลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ทำให้ปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารของปลาทูน่าท้องแถบมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ปลาทูน่าท้องแถบมีจำนวนลดลงตามไปด้วย

Shin-ichi Ito อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร มหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า อุณหูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้มีการพบปลาบางชนิด เช่น ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาอินทรีในพื้นที่ที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยพบว่าปลาเหล่านี้ปรากฏตัวในพื้นที่เหนือขึ้นไปจากที่เคยพบเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะโลกรวน

ปลา

ทั้งนี้ ยังพบว่าพืชเก่าแก่ที่เป็นอาหารของชาวญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน อาทิ สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ซึ่งนำมาทำสาหร่ายโนริ ที่มักพบทางเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด และใกล้ปากอ่าวโตเกียว

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้กระทั่งวาซาบิก็ไม่อาจรอดพ้นจากวิกฤตนี้เช่นกัน ความถี่และความรุนแรงของพายุที่มากขึ้นกำลังทำลายฟาร์มปลูกต้นวาซาบิ ซ้ำร้ายอุณภูมิที่สูงขึ้นยังรบกวนการปลูกวาซาบิของเกษตรกร ซึ่งเป็นพืชที่ต้องปลูกในน้ำอุณหภูมิคงที่ระหว่าง 10-15 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปีเท่านั้น

Shin-ichi Ito กล่าวเพิ่มเติมว่า แซลมอนก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เนื่องจากปลาไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายตนเองได้ จึงจำเป็นต้องอพยพขึ้นเหนือเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย จากการจำลองสถานการณ์เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น พบว่าแซลมอนจะหายไปจากน่านน้ำแถวฮอกไกโด และย้ายไปยังพื้นที่เหนือขึ้นไปในไม่อีกกี่ทศวรรษข้างหน้า 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบต่ออาหารญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสัตว์น้ำบางชนิดจะหายไปจากพื้นที่เดิม และจะพบสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานแทน

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ทะเลกรดจะส่งผลให้สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกมีจำนวนลดลงอย่างมาก เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นขัดขวางการสร้างแคลเซียมคาร์บอเนตของสัตว์เหล่านี้ และจะส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ที่เป็นอาหารทะเลยอดนิยม เช่น หอยเชลล์ หอยตลับ และหอยนางรม รวมถึงปูและกุ้ง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มนุษย์ส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจความหนักหนาของปัญหาเหล่านี้ เพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว โดยไม่คำนึงว่าเราต่างอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญ

ซูชิ 5

Jun Hoshikawa อดีตผู้อำนวยการองค์กร Greenpeace Japan เป็นคนหนึ่งที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของประชากรสัตว์น้ำที่บ้านของเขาด้วยตนเอง เขาอาศัยอยู่บนเกาะยากุชิมะมานานกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เขาพบว่าจำนวนฝูงปลาทูน่าครีบสีเหลืองมีน้อยลง สวนทางกับจำนวนปลาชนิดอื่นๆ ที่มักพบทางตอนใต้ที่กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 

อดีตผู้อำนวยการ Greenpeace Japan ให้ความเห็นว่า การอพยพหาที่อยู่ในพื้นที่เหนือขึ้นไปกำลังจะกลายเป็นแนวโน้มพฤติกรรมของสัตว์น้ำส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยเขาเชื่อว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าชาวญี่ปุ่นจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอาหารทะเลที่พวกเขาบริโภค แต่ก็ถือว่ายังไม่เร็วเกินไปนัก

ที่มา : https://www.theguardian.com/food/2022/oct/30/japan-sushi-culture-survive-climate-crisis-small-catches-global-heating

แชร์