
การศึกษาชิ้นใหม่พบว่าดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกและนำจุดจบมาสู่ยุคครีเทเชียสหรือยุค ไดโนเสาร์ เมื่อ 66 ล้านปีก่อน ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สีนามิที่มีความสูงมากกว่า 1.6 กิโลเมตร และแบบจำลองการเกิด สึนามิ จากแรงปะทะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมแถบพื้นที่ริมชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง
ภาพเคลื่อนไหวจำลองการเคลื่อนที่ของคลื่นสึนามิหลังการชนปะทะของดาวเคราะห์น้อยในช่วงปลายยุคครีเทเชียส ตามแบบจำลองที่จัดทำโดยอ้างอิงการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ใน AGU Advances / ที่มา: AGU Advances
ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกและนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเทเชียส-พาลีโอจีน เมื่อ 66 ล้านปีก่อน เป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นสีนามิทั่วโลก ที่มีความสูงที่สุดมากกว่า 1.6 กิโลเมตร ตามข้อมูลการศึกษาชิ้นใหม่ ซึ่งระบุว่า คลื่นสึนามิดังกล่าวมีขนาดใหญ่เสียจนสามารถซัดพื้นมหาสมุทรในจุดที่อยู่ห่างออกไปไกลหลายพันกิโลเมตรจากบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกในคาบสมุทร Yucatán ของเม็กซิโกได้
การศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ใน AGU Advances นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอแบบจำลองสีนามิที่เกิดขึ้นรอบโลกจากแรงปะทะของการพุ่งชนในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการตรวจทานและได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญในแขนงที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนครั้งใหม่จากสถานที่สำคัญทางธรณีวิทยาซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานของการเกิดสึนามิขนาดยักษ์ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก
แบบจำลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคลื่นในมหาสมุทรเปิดบริเวณอ่าวเม็กซิโกจะมีความสูงเกินกว่า 300 เมตร หลังการปะทะประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไป ความสูงของคลื่นจะลดตามระยะเวลาและระยะทางหลังจากการพุ่งชน
ผู้วิจัยคำนวณพลังงานเบื้องต้นของสึนามิดังกล่าวว่ามีพลังงานมากกว่าสึนามิในมหาสมุทรอินเดียที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2004 สูงสุดถึง 30,000 เท่า ซึ่งสึนามิครั้งนั้นนับเป็นสึนามีครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการเก็บสถิติในยุคสมัยใหม่ โดยจากแบบจำลองจะพบว่าสึนามินี้จะสลายตัวไปภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
ผู้วิจัยระบุว่า “สึนามิใดๆ ที่มีการบักทึกข้อมูลไว้ในประวัติศาสตร์ต่างเทียบไม่ติดกับผลกระทบที่กว้างใหญ่ครอบคลุมทั่วโลกขนาดนี้”
สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองเทียบกับหลักฐานทางธรณีวิทยา ผู้วิจัยตรวจสอบสถานที่ทางธรณีวิทยา 120 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับช่วงก่อนและหลังการชนปะทะของดาวเคราะห์น้อย และพบหลักฐานการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ทั่วโลกที่ทำให้คลื่นยักษ์พัดไกลไปถึงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งนักวิจัยใช้การเปรียบเทียบการทับถมของตะกอนกับแนวคลื่นและการกัดเซาะตามการคาดการณ์ของแบบจำลองที่จัดทำขึ้นเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
“สึนามิเหล่านี้รุนแรงมากพอที่จะรบกวนและกัดเซาะชั้นตะกอนในแอ่งมหาสมุทรที่ห่างออกไปกว่าครึ่งโลกได้ และทำให้เกิดทั้งช่องโหว่ในชั้นตะกอนและร่องรอยการปะปนกันของตะกอนจากยุคที่เก่ากว่า” Molly Range นักสมุทรศาสตร์กายภาพจากมหาวิทยาลัย Michigan ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยกล่าว “การกระจายของการกัดเซาะและช่องว่างที่พบในชั้นตะกอนใต้น้ำยุคครีเทเชียส ตรงกับผลการจัดทำแบบจำลองของเรา ซึ่งทำให้เรายิ่งมั่นใจในการคาดการณ์รูปแบบของแบบจำลองนี้”

“หลักฐานทางธรณีวิทยาช่วยเสริมความน่าเชื่อถือของงานวิจัยชิ้นนี้อย่างชัดเจน” Brian Arbic นักสมุทรศาสตร์กายภาพจากมหาวิทยาลัย Michigan และผู้ร่วมวิจัยกล่าว
สิ่งที่ผู้วิจัยมองว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งคือการค้นพบหลักฐานจากแถบชั้นหินปลายยุคครีเทเชียส-พาลีโอจีนบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะเหนือและเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดปะทะที่คาบสมุทร Yucatán มากกว่า 12,000 กิโลเมตร
ในอดีต ชั้นตะกอนที่นิวซีแลนด์ซึ่งมีร่องรอยการรบกวนอย่างหนักเคยเป็นที่เข้าใจกันว่าเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก แต่เมื่อมีปัจจัยด้านอายุของสิ่งที่ทับถมในบริเวณนั้น กับที่ตั้งซึ่งอยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของคลื่นสึนามิจากการชนปะทะที่ Chicxulub โดยตรง นักวิจัยจึงมีสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของร่องรอยดังกล่าวที่แตกต่างไปจากเดิม
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทับถมกันอยู่ในจุดนี้ได้บันทึกผลพวงของสึนามิที่เกิดจากการชนปะทะของดาวเคราะห์น้อยเอาไว้ และนี่อาจจะเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนที่สุดถึงความสำคัญระดับโลกของเหตุการณ์นี้” Range กล่าว
แม้ว่าการศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้จำลองการทะลักท่วมชายฝั่งของคลื่นสึนามิเอาไว้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าความสูงของคลื่นน่าจะอยู่ในระดับเกิน 10 เมตร ในช่วงที่คลื่นสึนามิพัดเข้าใกล้ชายฝั่งแถบแอตแลนติกเหนือและพื้นที่บางส่วนของชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปอเมริกาใต้
ช่วงที่สึนามิพัดเข้าใกล้ชายฝั่งเหล่านี้ซึ่งมีพื้นทะเลที่ตื้นเขิน ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น ความสูงของคลื่นสามารถทำให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างรุนแรง และนักวิจัยบางส่วนที่ร่วมจัดทำผลการศึกษาครั้งนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษากระบวนการดังกล่าวเพิ่มเติม
