เครื่องหมายอัศเจรีย์

ต้นตอของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก คืออะไร

ก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และกลุ่มก๊าซฟลูออริเนต ต่างเป็นตัวการทำให้โลกร้อน แต่กิจกรรมใดของมนุษย์กันแน่ที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้

สัดส่วนของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการใช้พลังงาน ตราบเท่าที่ยังมีความต้องการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ในโลกอย่างมาก กล่าวคือ การทำอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและเหล็กล้วนใช้พลังงาน ตึกรามบ้านช่องล้วนใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์ เรือ และเครื่องบินล้วนใช้ก๊าซสำหรับการสันดาป กิจกรรมเหล่านี้ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศทั้งสิ้น เมื่อพลังงานดังกล่าวไม่ได้มาจากแหล่งพลังงานทดแทน

ก๊าซเรือนกระจก 1

กิจกรรมทางการเกษตร เช่น การตัดไม้และการเลี้ยงปศุสัตว์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนหนึ่งในห้าของทั้งหมด กล่าวคือ การฝังกลบขยะ การสกัดน้ำมัน และกระบวนการผลิตซีเมนต์ ล้วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลพลอยได้ และยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ อีกด้วย

คาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนเป็น 3 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ขณะที่ก๊าซมีเทนมีสัดส่วน 16% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการทำการเกษตร การทำเหมืองแร่ และพื้นที่พรุและพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมักกักเก็บก๊าซมีเทนเอาไว้ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางการเกษตร และกลุ่มก๊าซฟลูออริเนตซึ่งเกิดจากสารทำความเย็น

ก๊าซบางชนิดมีอายุขัยยาวนานกว่าเพื่อน มีการประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 200 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะเหตุนี้ การเผาไหม้ถ่านหินในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรมจึงยังคงมีส่วนทำให้โลกร้อนอยู่ทุกวันนี้ ในทางกลับกัน ก๊าซมีเทนซึ่งมีน้ำหนักชั่วคราวมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 81 เท่า กลับมีอายุขัยอยู่ในชั้นบรรยากาศเพียง 12 ปี

ศาตราจารย์ Shobhakar Dhakal ผู้เขียนรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC คนหนึ่ง กล่าวว่า โลกร้อนเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกเป็นระยะเวลานานจนระดับความเข้มข้นเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ประวัติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

ก๊าซเรือนกระจก 2

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากมายมหาศาลขึ้นสู่อากาศจวบจนทุกวันนี้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2553 และ 2562 เป็นปริมาณมากกว่าศตวรรษก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

จากการประเมินล่าสุดของ IPCC ปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยสุทธิจากปี พ.ศ. 2393 จนถึง 2562 มีประมาณ 2,400 กิกะตัน ในจำนวนนี้ 58% เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2393 จนถึง 2532 หรือ ภายในระยะเวลา 139 ปี ขณะที่ส่วนที่เหลือ 42% เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2533 จนถึง 2562 หรือภายในระยะเวลาเพียง 29 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ราว 17% ของก๊าซที่ถูกปล่อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2393 เป็นต้นมา เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2553-2562

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า การขยายเมืองอย่างรวดเร็วทั่วโลกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่อากาศมากขึ้นทุกปี

ศาสตราจารย์ Jan Christoph Minx นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากประเทศเยอรมนีและผู้เขียนรายงานของ IPCC อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า มนุษย์มักลืมไปว่าเรายังไม่สามารถหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลได้สำเร็จเลยตลอดระยะเวลา 250 ปีที่ผ่านมา 

การลดการปล่อยก๊าซด้วยการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ยังน้อยกว่าปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยมากขึ้นจากระดับกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในภาคอุตสาหกรรม พลังงาน การขนส่ง การเกษตร และอาคารต่างๆ 

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Jan Christoph Minx เชื่อว่า มนุษย์ต้องเผชิญจุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียก่อน จึงจะหันมาเข้าสู่ยุคของการลดการปล่อยก๊าซในระดับที่น้อยลงทุกปีทั่วโลกได้

ที่มา: https://apnews.com/article/science-climate-and-environment-cbd935a775dc864dc7f6bb11c69bb302?fbclid=IwAR01Ko1Ftl8h9YurfnbC-dl0-b5PUIQHaxsVvNTWzqMZnW9qq-koyiKKBOk

แชร์