ก.พ.ร. ถอดบทเรียนแก้ไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่นPM2.5 ภาคเหนือ ส่งต่อข้อมูลผู้ว่าฯลำปาง
นายไมตรี อินทุสุต ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมติดตามแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือ และถอดบทเรียน การพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จ.ลำปาง
โดย นายไมตรี เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาติดตามการขับเคลื่อน นโยบายการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ยกระดับ หาเครื่องมือและแนวทางติดตาม ผ่านเครือข่าย ด้านนวัตกรรม เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า, กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น
โดยหัวข้อการหารือวันนี้ มีทั้งหมด 4 ข้อ ข้อแรกคือสิ่งที่ยังไม่ได้ทำและจำเป็นต้องทำ ข้อที่ 2 สิ่งที่ทำอยู่แต่ยังทำได้ไม่ดี ข้อที่ 3 สิ่งที่มองข้าม และต้องทำเพิ่ม และ ข้อที่ 4 สิ่งที่ทำดีแล้วควรทำต่อ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว จะถูกนำไปส่งต่อให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อนำไปวางแผนการทำงานต่อไป
ซึ่งข้อแรก ที่ประชุมได้ตกผลึกว่า ขณะนี้ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ทำและจำเป็นต้องทำสำคัญ คือ การพยายามให้อำนาจการสั่งการเป็นแบบ Single Command ในแต่ละจังหวัดที่ประสบปัญหา เพื่อให้มีแนวทางการแก้ไขที่มีสิทธิภาพที่สุด, การใช้งบประมาณในการสร้างนวัตกรรม เพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่นที่แม่นยำ สำหรับนำข้อมูลมาวิเคราะห์ หาเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบ, การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง
โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และ ข้าว มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน, เกณฑ์การวัดค่ามาตรฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งของหน่วยงานรัฐและ Lowcost Censor ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนว่าทั้ง 2 เครื่องมือมีประโยชน์และต้องการจะสร้างการตระหนักรู้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบได้เตรียมตัวเฝ้าระวังด้านสุขภาพ ไม่ใช่ความตื่นตระหนก รวมถึงควรมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำฐานข้อมูล เช่น จำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เพื่อนำไปวางแผนสร้างห้องปลอดฝุ่น ให้กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต่อไป

ข้อที่ 2 คือสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่ยังทำได้ไม่ดี
ข้อนี้ ทางที่ประชุม ระบุปัญหาบางข้อว่า ขณะนี้ยังคงติดปัญหาเรื่องของการสนับสนุนทุนให้ เช่นกรณีของการสร้างนวัตกรรมเพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่นที่แม่นยำ เพราะหากลงลึกไปในปัญหาจะพบว่า เมื่อสามารถค้นพบแหล่งกำเนิดฝุ่นที่แท้จริงแล้ว แต่พบว่า มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการจะแก้ปัญหาต้องใช้การเจรจาระดับประเทศ ซึ่งเมื่อได้ลงทุนไปแล้วแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็อาจทำให้ การสนับสนุนนั้นไม่ตอบโจทย์และสูญเปล่า, การนำเสนอข้อมูลที่ต่อเนื่องและเป็นเรียลไทม์ เพราะบางองค์กรยังไม่มีระบบที่รองรับหรือองค์ความรู้ จึงมองว่าควรมีการสนับสนุนงบพัฒนาระบบ
ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานที่ทำเรื่องเดียวกัน ทำให้ข้อมูลตกค้างอยู่ที่ แต่ละองค์กร และทำให้การเข้าถึงของประชาชนเป็นไปได้ยาก, การวางแผนนโยบายชิงเผาหรือควบคุมการเผา, การเปลี่ยนระบบเกษตรแบบเผาเป็นไม่เผา, การเพิ่มจำนวนเซ็นเซอร์ตรวจจับค่าฝุ่น
ข้อที่ 3 สิ่งที่มองข้าม และต้องทำเพิ่ม
ข้อนี้ทางภาคประชาสังคม เสนอข้อมูลที่น่าสนใจกับที่ประชุม ว่า การไม่รับฟังปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน แต่เลือกใช้มาตรการทางกฎหมายเดียวกับทุกพื้นที่ ซึ่งหากวิเคราะห์จริง ๆ แล้ว จะพบว่า แต่ละพื้นที่ ชาวบ้านมีความแตกต่างกันและมีฐานะที่ยากจน ซึ่งตรงนี้ หน่วยงานรัฐจึงต้องมีความพยามยามที่จะลงพื้นที่ ให้ความรู้ส่งเสริมทางเลือกการประกอบอาชีพ หรือปลูกพืชทางเลือกอื่น เพื่อให้เกษตรกร ทดลองหันไปปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่ข้าว อ้อย และหันไปนำรายได้ที่เกิดจากการปลูกพืชทางเลือกอื่นมาซื้อข้าวบริโภคแทน, การสนับสนุนงานวิจัยให้กับการศึกษาแนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้าน โดยวิเคราะห์จาก สภาพพื้นที่ที่อยู่อาศัยเป็นตัวกำหนด, การปรับระบบราชการให้มีส่วนร่วมกับภาคประชาชนมากขึ้น, การทบทวนนโยบายและปรับเพิ่มบางข้อให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา เพื่อให้ในพื้นที่มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น เป็นต้น
ข้อที่ 4 สิ่งที่ทำดีแล้วควรทำต่อ
ประเด็นนี้ ที่ประชุม ได้นำเสนอว่า ปัจจุบัน มีการทำชุมชนต้นแบบ ที่ลดการเผาอยู่แล้ว แต่ในอนาคตสิ่งที่ควรทำคือจะต้องมีการเพิ่ม หรือ ขยายจำนวนชุมชนต้นแบบให้เป็นโมเดลซึ่งเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังควรมีการพัฒนาระบบ Censor ตรวจจับ ที่สามารถพยากรณ์เรื่องฝุ่นล่วงหน้า ให้แม่นยำและรู้ล่วงหน้าได้หลายวัน เหมือนกับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องคำสั่ง ปิดหรือเปิด สถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบางต้องไปรวมตัวเช่น สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก และ โรงเรียน ขณะเดียวกัน ฐานข้อมูลการพยากรณ์เหล่านี้ยังสามารถนำมาใช้คาดการณ์ ตัวเลขผู้ป่วยที่อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่จะต้องเข้าไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งหากมีข้อมูลการพยากรณ์ที่แม่นยำ จะทำให้ทางโรงพยาบาล สามารถจัดระบบรองรับผู้ป่วยได้ดีขึ้น