ฝนที่ตกตามฤดูกาลแต่มีความรุนแรงมากเกินกว่าปกติ ที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ในแอฟริกาตะวันตกและ แอฟริกากลาง มีน้ำท่วมขังมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งอุทกภัยครั้งเลวร้ายส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนหลายล้าน และทำให้พื้นที่การเกษตรใน 19 ประเทศต้องจมอยู่ใต้บาดาล ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้จะตอบคำถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้อุทกภัยรุนแรงกว่าปกติ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลความเสียหายของอุทกภัยที่เกิดขึ้น

น้ำมาจากไหน?
ส่วนมาก แอฟริกากลาง และตะวันตกจะเจอน้ำท่วมที่ความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เมื่อฝนตกตามฤดูกาลในภูมิภาค Sahel ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศต่างๆ ทางตอนใต้ของทะเลทราย Sahara แต่ปีนี้ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมกับที่ทำให้แอฟริกาตะวันออกเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
ขณะที่อุณหภูมิซึ่งเพิ่มสูงขึ้นการจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทำให้ความรุนแรงและความถี่ของฝนในแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น ตามการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากองค์การสหประชาชาติ โดยปีนี้ การวางผังเมืองที่ย่ำแย่ แม่น้ำที่เต็มไปด้วยตะกอน และการเสื่อมของดิน ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยิ่งรุนแรง ระบบน้ำต้องแบกรับภาระหนักอึ้งจนนำไปสู่หายนะ
“ปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น” Andrew Kruczkiewicz ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกภัยจากวิทยาลัยสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัย Columbia กล่าว “คำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่เป็นที่แพร่หลายอีกต่อไป เพราะดูเหมือนจะเป็นการนิยามที่ตื้นเขินจนเกินไป เนื่องจากควรจะต้องพิจารณาทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมภาพรวมร่วมด้วย”

ผลกระทบของอุทกภัยครั้งนี้มีอะไรบ้าง?
ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคม น้ำท่วมใหญ่ส่งผลกระทบต่อประชาชน 5 ล้านคน และพื้นที่การเกษตร 6.25 ล้านไร่ ในดินแดนที่ผู้คนกว่า 43 ล้านคนเผชิญภาวะอดอยากยากไร้อยู่ก่อนแล้วในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จากการประเมินของโครงการอาหารโลก หน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ สำหรับไนจีเรีย น้ำท่วมสูงคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 600 คนและทำให้อีกกว่า 1 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังทำให้การระบาดของอหิวาตกโรครุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า น้ำทะลักท่วม 18 จังหวัดในประเทศชาด จากทั้งหมด 23 จังหวัด และมีปศุสัตว์มากกว่า 19,000 ตัวถูกกระแสน้ำพัดพาไป เช่นเดียวกับในแอฟริกาตะวันตก ประเทศริมชายฝั่งทะเลอย่างเซเนกัลและเซียร์ราลีโอน เผชิญน้ำท่วมฉับพลันในเมืองหลวงที่ส่งผลกระทบรุนแรง
ส่วนภาคเหนือของแคเมอรูน สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุว่าฝนที่ตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นและส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนไร้ที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนกันยายน ผลกระทบในด้านการเกษตรนับว่ายากที่จะประเมินอย่างทันท่วงที เพราะบางพื้นที่อาจได้รับประโยชน์จากน้ำหลากตามฤดูกาล แต่ FAO คาดว่าผลผลิตธัญพืชในภูมิภาคนี้จะลดลง 3.4% จากน้ำท่วมและปัจจัยอื่นๆ
ทำไมบางประเทศจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก?
ชาดเผชิญฝนตกหนักมากที่สุดในรอบ 30 ปี ทั้งที่ประเทศนี้ถูกจัดอันดับอยู่รั้งท้ายตารางของโครงการด้านการปรับตัวระดับโลก Notre Dame ในส่วนของกลุ่มประเทศที่เปราะบางต่อสภาวะอากาศสุดขั้ว Hamit Abakar Souleyman นักอุทกวิทยาชาวชาดระบุว่า ฝนที่ตกลงมาทำให้น้ำบาดาลเอ่อท้นและระดับน้ำในทะเลสาบชาด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งในชาด แคเมอรูน ไนเจอร์ และไนจีเรีย เอ่อสูงเกินกว่าระดับน้ำในแม่น้ำ ผลคือน้ำในแม่น้ำ Logone และแม่น้ำ Chari ไม่สามารถไหลลงไปยังทะเลสาบนี้ได้ จนทะลักล้นตลิ่ง ท่วมกรุง N’Djamena เมืองหลวงของชาด และเมือง Kousseri ริมพรมแดนของประเทศแคเมอรูน

ส่วนแม่น้ำ Benue ที่ไหลจากแคเมอรูนสู่ไนจีเรีย ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมากเสียจนทางการแคเมอรูนต้องปล่อยน้ำที่กักในเขื่อน Lagdo ออก ซึ่งก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมกับพื้นที่ใต้เขื่อนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งคือพื้นที่ของไนจีเรียเป็นหลัก ประเทศนี้เองก็เผชิญฝนตกหนัก ซึ่งผลกระทบยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกระดับจากการวางผังเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยปะละเลยให้ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตเมืองสร้างสิ่งก่อสร้างบนที่ราบน้ำท่วมถึง ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งปกติจะมีหน้าที่เป็นปราการกั้นน้ำตามธรรมชาติ
“ไม่ว่าฝนจะตกมากหรือน้อยแค่ไหน น้ำที่ซึมทะลุสู่ใต้ดินได้น้อย กับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านไปมากขึ้นอย่างไรก็จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอยู่ดี” Ibidun Adelekan อาจารย์วิชาธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัย Ibadan ที่ประเทศไนจีเรีย ซึ่งมีส่วนจัดทำรายงานด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2022 กล่าว “มีหลายสิ่งที่ทำได้เพื่อให้คนไม่สร้างอะไรตามอำเภอใจ” พร้อมเสริมว่าการขุดลอกแม่น้ำสายหลักๆ ก็จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นกัน