
สภาพอากาศที่เย็นลงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เกิดคำถามในสื่อสังคมออนไลน์ว่า สภาพอากาศในประเทศไทยแปรปรวน ขั้นวิกฤต หรืออาจได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์ Polar Vortex
ข้อมูลนี้นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อากาศที่เย็นลงแบบนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ Polar Vortex ที่ถูกพูดถึง
แต่เป็นการกระเพื่อมของมวลอากาศเย็น เนื่องจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ความแรงของมวลอากาศเย็นที่มากในช่วงฤดูร้อนของไทย ทำให้อุณหภูมิลดฮวบ 5-7 องศา จึงเกิดความแตกต่างของอุณหภูมิอย่างชัดเจน ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้างในบางปี
นายสมควรยังอธิบายว่า การเกิดปรากฏการณ์ Polar Vortex ในประเทศไทยอาจเป็นไปได้ยาก สำหรับปรากฎการณ์ Polar Vortex มาจากกระแสลมกรด Jet Stream คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่จากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูง กระแสลมกรด แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
1.กระแสลมกรดกึ่งโซนร้อน ( Subtropical Jet ) พบได้บ่อยบริเวณเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ซึ่งใกล้ประเทศไทยมากที่สุด
2. กระแสลมกรดบริเวณขั้วโลก (Polar Jet ) พบได้ใกล้แนวปะทะอากาศขั้วโลกซึ่งเกิดจากอากาศหนาวจากขั้วโลกเคลื่อนที่มาพบกับอากาศอุ่นจากเขตร้อนและอยู่เหนือแนวปะทะอากาศขั้วโลก ซึ่งกระแสลมกรดบริเวณนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์Polar Vortex
สอดคล้องกับ ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิที่เย็นลงในฤดูร้อน ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าเกิดจากปรากฏการณ์ Polar Vortex เพราะหากมีแรงกระเพื่อมจากปรากฎการณ์นี้ มาถึงไทยต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากอยู่ห่างจากประเทศไทย 4-5 พันกิโลเมตร เหตุการณ์อากาศที่เย็นลงในช่วงหน้าร้อน เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในอดีตเมื่อเกิดเหตุในลักษณะนี้ อาจมีความสัมพันธ์เรื่องฝนที่มากในปลายฤดู