
“ปะการังเป็นสัตว์คุ้มครอง ถ้าทำอะไรใดๆ ต่อปะการัง ผิดกฎหมาย” ข้อมูลเบื้องต้น ที่ ดร.นลินี ทองแถม ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เมื่อถามถึงข้อมูลปะการัง
ส่วนกรณีกิจกรรม CSR ปลูกปะการังที่ได้ยินมานาน สามารถทำได้ หรือผิดกฎหมายหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า โครงการที่ถูกต้อง ต้องทำร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วนวิธีการปลูกขึ้นอยู่กับกรณี หรือพื้นที่
ด้าน รศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การปลูกปะการัง โดยเฉพาะการทำกิจกรรม CSR เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
สำหรับปะการังเป็น สัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535” กำหนดให้กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ปะการัง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งห้ามดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด ห้ามทำการเพาะพันธุ์ ห้ามครอบครอง ห้ามค้าขาย และห้ามนำเข้าหรือส่งออก
ทีมข่าวลองค้นหาข้อมูล คำว่า ทำ CSR ปลูกปะการัง พบกิจกรรม ในอ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลายกิจกรรม จากหลายบริษัทเอกชน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าไปดูอย่างละเอียดพบว่า บางกรณีจัดเป็นกิจกรรมจิตอาสา เก็บเงินจากผู้เข้าร่วม หรือบางกิจกรรมทำร่วมกับกองทัพเรือ และบางกิจกรรมมีผู้เชี่ยวชาญร่วม
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า สถานภาพแนวปะการังในน่านน้ำไทย 17 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2564 พบว่าแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ในสภาพสภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 54.8 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 26.3 และเสียหายร้อยละ 18.9 ส่วนฝั่งอ่าวไทยแนวปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 49.7 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 21.3 เสียหาย ร้อยละ 29.0 โดยจังหวัดที่มีพื้นที่แนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดีสูงที่สุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ จังหวัดพังงา ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่แนวปะการังสถานภาพเสียหายสูงที่สุด คือ จังหวัดตราด ทั้งนี้ภาพรวมแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามันมีสถานภาพสมบูรณ์มากกว่าฝั่งอ่าวไทย

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพแนวปะการังระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 พบว่าสถานภาพแนวปะการังโดยภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 มีแนวปะการังที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีร้อยละ 52.3 (พื้นที่ 77,961 ไร่) มากกว่าปี พ.ศ. 2563 ซึ่งมีร้อยละ 39.2 (พื้นที่ 49,055 ไร่) แนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามันที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.5 เป็นร้อยละ 54.9 ส่วนฝั่งอ่าวไทย แนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.4 เป็นร้อยละ 49.7

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของสถานภาพแนวปะการัง ภาพรวมอยู่ในระดับคงที่ ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยฝั่งทะเลอันดามันแนวปะการังในหลายจังหวัดมีแนวโน้มคงที่ ยกเว้นจังหวัดกระบี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับฝั่งอ่าวไทย ส่วนใหญ่สถานภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นบริเวณจังหวัดชลบุรีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
อ้างอิง :
ฐานข้อมูลปะการัง
http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=246&Itemid=59&lang=th
สถานการณ์ปะการัง