นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และ กรรมการ บมจ.ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน ลุ่มน้ำชี – มูล และ ภาคเหนือ – ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุว่า……
ภาคอีสาน ปริมาณน้ำชีจะลดลงอยู่ในตลิ่ง ตั้งแต่ จ.ชัยภูมิ จากนั้นจะเป็น จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จะทยอยลดลงตามลำดับ ขณะที่ จ.ยโสธร จะลดลงภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับสถานการณ์แม่น้ำมูล ในลำน้ำสาขาตั้งแต่ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ จะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ แต่จะยังคงเหลือในพื้นที่สองฝั่งตลิ่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ อ.วารินชำราบ อ.เมือง ลงไปถึง อ.พิบูลมังสาหาร น้ำจะลดลงอยู่ในตลิ่งในกลางเดือนพฤศจิกายน

จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าพื้นที่สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจุดที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ สองฝั่งตลิ่งแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล โดยจากการวิเคราะห์ของทีมกรุ๊ปคาดว่าน้ำเหล่านี้จะทยอยไหลลงไปรวมกันที่อำเภอวารินชำราบ ไหลผ่านอำเภอเมือง และพิบูลมังสาหาร ลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จากอัตราการไหล สูงสุดที่ 5,745 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 11 ถึง 14 ตุลาคมที่ผ่านมา และน้ำค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำโขง จะสามารถรับปริมาณน้ำที่จะไหลระบายไปลงได้ทั้งหมด แต่การระบายลงไปได้ช้าเนื่องจากบริเวณแก่งสะพือ ที่อำเภอพิบูลมังสาหารนั้น เป็นลำน้ำที่คอดแคบ น้ำไหลลงไปได้ช้า ซึ่งทีมกรุ๊ปมองว่าในอนาคตควรจะมีการสร้างคลองผันน้ำตั้งแต่อำเภอวารินชำราบไประบายลง ท้ายน้ำของแก่งสะพือ (ความยาว 94 กิโลเมตร) เพื่อให้น้ำสามารถระบายผ่าน ตัวอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองไปได้อย่างรวดเร็ว
ลุ่มเจ้าพระยา ระดับน้ำเจ้าพระยาบริเวณบางไทร มีน้ำอยู่ในระดับสูงปริ่มตลิ่งมาตลอดเดือนตุลาคม 65 โดยระดับน้ำจะทรงตัวแบบนี้ไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม จากนั้นจึงจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้า ๆ แต่ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง วันที่ 27 ถึง 31 ตุลาคม และ วันที่ 11 ถึง 15 พฤศจิกายน จึงทำให้การเดินทางของน้ำจากบางไทรผ่านไปยังกรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี ไปลงที่ จ.สมุทรปราการ จะอยู่ในระดับปลอดภัย หลังวันที่ 15 พฤศจิกายนเป็นต้นไป
ส่วนในพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ เป็นพื้นที่หลุมต่ำ สองข้างคลองคลองบางบาล แม่น้ำน้อย และบางตำบลของบ้านบางหลวงโดด อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล รวมถึงพื้นที่ 2 ข้างแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ อ.บางปลาม้า อ.อู่ทอง อ.บางเลน และ อ.กระทุ่มแบน น้ำในแม่น้ำท่าจีนจะลดลงอย่างช้าๆ จะมีน้ำอัดเอ่อออกท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในบางเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงสุดท้ายจะเป็นวันที่ 26-30 พฤศจิกายน หลังจากนั้น ระดับน้ำจึงจะลดต่ำลงกว่าตลิ่ง

จากภาพที่ 2. ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ มีอัตราการไหลสูงสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 65 ที่ 3,099 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และได้เริ่มลดลง อย่างเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.65 เป็นต้นมา โดยวันที่ 18 ต.ค 65 อัตราการไหลอยู่ที่ 2,858 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั่นเท่ากับว่าปริมาณจากภาคเหนือที่ไหลลงมาเริ่มลดลง

จากภาพที่ 3. ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา (เส้นสีน้ำเงิน) บริเวณ อ.เมือง จ.อ่างทอง จะยังคงทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง และจะเริ่มลดระดับลงต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณวันที่ 28 ต.ค. 65

จากภาพที่ 4. ระดับน้ำเจ้าพระยา (เส้นสีน้ำเงิน) บริเวณบ้านป้อม จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมในพื้นที่นอกคั้นกั้นน้ำมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ระดับน้ำจะทรงตัว ไปถึงประมาณวันที่ 25 ต.ค 65 หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง โดยน้ำจะไหลกลับเข้าไปลำน้ำเดิมและปริมาณจะค่อยๆ ลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณวันที่ 13 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

จากภาพที่ 5. ระดับน้ำเจ้าพระยา (เส้นสีน้ำเงิน) บริเวณ เกาะเมืองอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำล้นตลิ่ง ออกมาท่วมในพื้นที่นอกคั้นกั้นน้ำมานานประมาณ 1 เดือนแล้ว ระดับน้ำค่อยๆ ลดลงอย่างช้า ๆ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง โดยน้ำจะไหลกลับเข้าไปลำน้ำเดิมและปริมาณจะค่อยๆ ลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณวันที่ 29 ต.ค. เป็นต้นไป

จากภาพที่ 6. ระดับน้ำเจ้าพระยาบริเวณบางไทร (แม่น้ำเจ้าพระยา ลพบุรี ป่าสัก และแม่น้ำน้อย ไหลมารวมกัน ก่อนที่จะไหลผ่านบางไทร) มีน้ำอยู่ในระดับสูงปริ่มตลิ่งมาตลอดเดือนตุลาคม โดยระดับน้ำจะทรงตัวอยู่ไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม จากนั้นจึงจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้า ๆ
จะมีฝนตกที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมอีกหรือไม่?
นายชวลิต ระบุว่า ความกดอากาศสูงมวลอากาศเย็นกำลังแรง จากประเทศจีนได้เคลื่อนที่ลงมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 20 ต.ค.65 จะทำให้ภาคเหนือจะมีฝนตกเพียงเล็กน้อยเป็นบางบริเวณเท่านั้น จึงทำให้ไม่มีฝนตกหนักที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม ดังนั้นปริมาณน้ำที่ค้างทุ่งอยู่ตั้งแต่พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ลงมาถึง จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์ ส่วนนี้ก็จะทยอยระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนั้นมวลอากาศเย็นกำลังแรงนี้ ยังเข้าปะทะกับพายุเนสาท จะขึ้นฝั่งเวียดนามที่เมืองเว้ ในวันที่ 21 ต.ค 65 นี้ ทำให้พายุเนสาทอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก
ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ซึ่งเคลื่อนที่ตามมา และจะขึ้นฝั่งที่เมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 23 ต.ค. 65 คาดว่าจะมีผลทำให้ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นหย่อมๆ เฉพาะในพื้นที่ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.สกลนคร จ.บึงกาฬ และ จ.หนองคาย ซึ่งปริมาณน้ำจะมีไม่มาก และจะไหลลงแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด ส่วนฝนที่อาจจะตกเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่ตอนบนของ จ.กาฬสินธุ์ ปริมาณน้ำฝนเหล่านี้ ก็จะสามารถเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวได้ทั้งหมด
