เครื่องหมายอัศเจรีย์

นักธรณีวิทยา เตือน อุตรดิตถ์-น่าน เฝ้าระวังแผ่นดินไหว

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้  นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ กรณีการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.4  ความลึก 2 กิโลเมตร บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ มีผลทำให้ อ.ตรอนอ.ลับแล และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ ได้รับความรู้สึกสั่นไหวนั้น คาดว่าเป็นผลมาจากรอยเลื่อน “เดียนเบียนฟู” ที่มาจากประเทศเวียดนาม วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านประเทศลาวตอนเหนือ ก่อนเข้ามาสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า “รอยเลื่อนน้ำปาด” หรือ “รอยเลื่อนอุตรดิตถ์” 

สำหรับผลกระทบในเชิงภัยพิบัติ  อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกถึงการสั่นสะเทือน ส่วนบ้านเรือนก็อาจจะทำให้เกิดการแตกร้าวบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากขนาดของแผ่นดินไหวยังไม่รุนแรง

ส่วนในเชิงธรณีวิทยา ที่อาจเกิดความกังวลว่า จะส่งผลกระทบกับ “รอยเลื่อนปัว” จ.น่าน ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดหรือไม่นั้น ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะรอยเลื่อนน้ำปาด ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา 

สำหรับรอยเลื่อน น้ำปาด หรือ รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ เคยขยับตัวจนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.9 ลึกลงไปใต้ดิน 3 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 จุดศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ป่า เขต อ.นาน้อย จ.น่าน รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่หมู่บ้านห้วยแก้วต.น้ำปัว อ.เวียงสา และบ้านสันติสุข ต.กลางเวียง อ.เวียงสา

และปี 2559 มีผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษา ระบุว่า  ต้องจับตาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนอุตรดิตถ์เนื่องจากพบว่า รอยเลื่อนนี้ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่พาดผ่านมาจากจีนตอนใต้เวียดนาม ลาว โดยมีปลายรอยเลื่อนอยู่ในไทย จึงเป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่และยาวมาก ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะการขยับหรือเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่น้ำแดงในจีน ขนาด 7.5 – 8.0 ที่จะมีผลกระทบต่อรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ทันที

ขณะที่การสำรวจพบว่ารอยเลื่อนอุตรดิตถ์ของไทยเป็นรอยเลื่อนมีพลัง เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 6.0 – 7.0 ต้องเฝ้าระวังและควรมีการประเมินระดับอันตรายหรือภัยพิบัติอันเนื่องมาจากรอยเลื่อนนี้ สำหรับประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลัง 14 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 22 จังหวัด

แชร์