
จากเหตุการณ์เตาเผาขยะระเบิด บริเวณบ่อทิ้งขยะของเทศบาลนครสกลนคร บ้านโพนยางคำ ต.โนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ซึ่งแรงระเบิดทำให้นายพิชัย ศรีมันตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ทำวิจัยโครงการสกัดน้ำมันจากพลาสติกด้วยเตาขนาดใหญ่ เสียชีวิตทันที และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า เตาดังกล่าวอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น(ผู้เสียชีวิต) ได้ทำการวิจัยที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นนำมันดีเซล โดยหลักการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการให้ความร้อนกับขยะพลาสติกที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไอ หรือก๊าซที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่ไม่มีก๊าซออกซิเจน โดยใช้ก๊าซไนโตรเจนแทนเพราะถ้ามีออกซิเจนการเผาไหม้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจะได้ขี้เถ้าจำนวนมาก ไม่ได้ไอหรือก๊าซ จากนั้นนำไอหรือก๊าซที่ได้มาควบแน่นด้วยน้ำที่อุณหภูมิห้อง ทำให้ก๊าซที่ถูกควบแน่นกลายเป็น Pyrolysis oil แล้วนำเข้าเครื่องกลั่นอีกครั้งจะได้น้ำมันดีเซลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ขั้นตอนการผลิตจะต้องทำการตัดขยะพลาสติกให้เล็กลงเพื่อให้ความร้อนกับพลาสติกผสมกันอย่างทั่วถึง พลาสติกที่ใช้หากต้องการผลิตเป็นน้ำมันดีเซลมากขึ้นต้องใช้ขยะพลาสติกประเภท PP LDPE และ HDPE ใส่ลงไปในเตา
นายสนธิ คาดว่าสาเหตุที่ทำให้เตาเผาขยะเกิดการระเบิดขึ้น มาจากอุณหภูมิในเตาเผาสูงมากกว่า 500 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากเกินไป ทำให้มีความร้อนสูงมากจนวัสดุของเตารับไม่ได้จึงเกิดระเบิดขึ้น อีกทั้งเตาเผาขยะดังกล่าวที่นำมาใช้ไม่ได้มีการติดตั้ง Temperature Control (ระบบควบคุมอุณหภูมิ) และThermostat (ระบบตัดการทำงานของเตาเผาขยะหากมีอุณหภูมิสูงเกิน) ส่วนในเรื่องของก๊าซต่างๆ จะมีอันตรายต่อประชาชนในละแวกดังกล่าวหรือไม่ นายสนธิ ระบุว่า เนื่องจากจุดที่ตั้งเป็นพื้นที่โล่ง และจำนวนก๊าซที่ออกมาไม่มาก จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด